จงปล่อย “อดีต” ทิ้งไปกับปีเก่า เพราะอดีตไม่ช่วยอะไรเราได้เลย นอกจากจำไว้เป็น “บทเรียน” แต่ “ขยะ (บางอย่าง)” ไม่จำเป็นต้องทิ้งไปก็ได้นะ เพราะเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมบ้าน กับขยะได้ เหมือนที่ เดฟ คาไมเดส ตากล้องหนุ่มวัย 39 ในนครลอสแองเจลิส ได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่กับการ “ไม่ทิ้งขยะ” มีขยะมากมายกองอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติค, กล่องใส่พิซซ่า, ขวดไวน์ ฯลฯ มาแล้วเกือบปี ด้วยความหวังว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของเขา และครอบครัว อาจจะเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้ชาวอเมริกันคนอื่นๆ ลุกขึ้นมาทำตาม เพื่อช่วยกัน “ลดขยะ” ในโลก แถมยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว แล้วยังสามารถช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ด้วย
ทั้งนี้ จากบทความของเอเอฟพี ที่ตามไปพูดคุยกับ เดฟ ที่บ้านอันแสนสุขของเขาในย่านฮอลลีวู้ด นครลอสแองเจลิส ที่เดฟใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา และลูกสาวอีก 2 คน ชายเจ้าของบ้านเล่าว่า เกือบ 1 ปีมาแล้ว ที่เขาไม่เคย “ทิ้งขยะ” แม้แต่ชิ้นเดียว ไม่ว่าจะเป็น หมากฝรั่งเคี้ยวแล้ว, กล่องใส่พิซซ่า หรือขวดน้ำพลาสติค ฯลฯ
แต่เขาและครอบครัวพยายาม “รีไซเคิล” นำขยะเหล่านั้นกลับมาใช้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ หรือหากนำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้จริงๆ เขาก็จะเก็บมันไว้ที่ห้องใต้ดินอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
หลังจากผ่านมาเกือบปี ผลลัพธ์ที่ได้ “น่าทึ่ง” มั่กๆ เพราะขณะที่ครอบครัวชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยจะ “ผลิตขยะ” ประมาณปีละ 725 กิโลกรัม แต่ครอบครัวคาไมเดส เพิ่มขยะขึ้นในสหรัฐอเมริกาแค่ปีละ 14 กิโลกรัมเท่านั้น และมันก็เป็นไปแล้ว!!!
“ถ้าผมทำเหมือนครอบครัวอเมริกันทั่วไป ป่านนี้ห้องใต้ดินที่บ้านคงล้นไปด้วยขวดน้ำพลาสติค” เดฟบอก ขณะที่ยังเขียนบอกเล่าการใช้ชีวิตแบบนี้ของเขาลงในเว็บ http://www.365daysoftrash.blogspot.com เผื่อใครสนใจอยากรู้ และอยากลองทำตามดูบ้าง
ยกตัวอย่างเรื่องน้ำดื่ม เดฟเล่าว่า ครอบครัวของเค้าพยายามเลี่ยงไม่ซื้อน้ำดื่ม แต่จะดื่มน้ำประปาที่ผ่านการกรองจากก๊อกน้ำ หากจะซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติค ก็มีแค่ เวลาเดินทางไปเที่ยวที่เม็กซิโกเท่านั้น แต่ก็จะเก็บขวดพลาสติคเหล่านั้นกลับมาบ้านด้วย แล้ว บี้ให้แบนนำไปเก็บไว้รวมกับขยะอื่นๆ ที่ห้องใต้ดินที่บ้าน
เนื่องจากหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ล้วนเป็นการเพิ่มปริมาณขยะทั้งนั้น …ดังนั้น ครอบครัวของเดฟจึงคิดถึงประเด็นนี้มาก อย่างเช่น เวลาออกไปจับจ่ายซื้อของกิน ของใช้ต่างๆ แทนที่จะซื้อข้าวบรรจุถุง ครอบครัวคาไมเดสจะซื้อข้าวเป็นกิโลกรัม โดยจะนำเอาถัง หรือภาชนะไปใส่ข้าวด้วย ส่วนผัก ผลไม้ก็จะซื้อสัปดาห์ละครั้ง จากตลาดสดใกล้บ้านที่ชาวไร่ ชาวสวน นำพืชผลมาวางขาย ไม่ซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือห้างใหญ่ๆ
พูดถึงเรื่องหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เดฟเล่าว่า ที่จริงบรรจุภัณฑ์ของอาหาร ของกิน เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำลาย ย่อยสลายได้ง่ายที่สุด ต่างกับบรรจุภัณฑ์ของดีวีดี ของเล่นเด็ก ซึ่ง ทำลายยาก อีกทั้งยังเป็นสิ่งไม่จำเป็นเลย มิหนำซ้ำ ผู้บริโภคหรือคนซื้อ ยังต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายของบรรจุภัณฑ์ด้วยโดยไม่รู้ตัว เพราะมันเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตบวกอยู่ในราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว
เดฟเล่าถึงวิธีจัดการกับขยะต่างๆ ของเขาว่า ไม่มีขยะที่ไร้ค่าสักชิ้น ขยะใดที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ไม่ได้จริงๆ เขาก็จะจัดการส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ขยะมลรัฐคอนเนคติกัต ไว้โชว์ให้ผู้คนได้เข้าไปดู
ส่วนขยะพวกเปลือกกล้วย เปลือกไข่ เศษผัก ผลไม้ ก็จะนำไปหมักกับหนอนเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้ นอกจากนั้นที่บ้านของเขายังติดตั้งแผงโซลา พลังงานแสงอาทิตย์ แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า ขณะที่รถยนต์ที่ขับก็เติมด้วยน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร
สำหรับใครที่รู้สึกว่าฉันใช้ชีวิตแบบนั้นไม่ได้แน่ๆ เดฟก็ยังยืนยันว่า ถึงแม้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตตาม รอยเขาได้ทุกฝีก้าว แต่ขอให้เชื่อเถอะว่า การใช้ “ชีวิตแบบพอเพียง” ใครๆ ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องสูญเสียความสะดวก สบายในชีวิตมากมาย ใหญ่โตอย่างที่คิด
“ผมก็แค่กินอาหารที่สดใหม่ รู้จักประหยัด รู้จักช่วยเหลือเศรษฐกิจในท้องถิ่น สนับสนุนซื้อสินค้าจากเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน แทนที่จะไปซื้อของในห้าง สำหรับผม แค่นี้ มันก็มีค่าพอแล้ว เราแค่คิดถึงการทำสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ถูกต้อง มันเป็นแค่ก้าวเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ ผมไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำซะเมื่อไร ชาวบ้านมักชอบคิดว่า คุณภาพชีวิตของประชาชนในสหรัฐอเมริกาจะต้องอยู่ในบ้านที่มีแสงไฟสว่างจ้า ตลอดเวลา แต่ครอบครัวเราเลือกจะใช้ชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่า เป็นชีวิตที่แปลกประหลาด”
แม้แต่การจะหยิบกระดาษมาห่อของขวัญคริสต์มาส เดฟก็เล่าว่า เขาต้องคิดมองหาโอกาสที่จะรีไซเคิลไว้แล้ว หรือไม่ของขวัญชิ้นนั้นต้องจำเป็นใช้กระดาษห่อจริงๆ
ที่มา : คอลัมน์ ร่อนตามลม, มติชน 5 ม.ค. 52
และ http://wechange.seubsan.net/Joomla/index.php/component/content/164?task=…