บางตอนจากการสัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล
โดยแทนคุณ จิตต์อิสระ และสันติสุข มะโรงสี
โดยมีมนตรี ศรไพศาล ร่วมในรายการด้วย
ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๓๐ น.
แทนคุณ พระอาจารย์ครับ หลังจากที่มีโอกาสได้กราบสัมภาษณ์พูดคุยกับท่าน ครั้งแรกในเมื่อสองเดือนกว่านะครับ ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงเปลี่ยนผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ พระอาจารย์อยากจะพูดอะไรก่อนครับ
พระไพศาล อาตมาไม่คิดว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อมาเป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน และไม่คาดคิดว่าในช่วงเวลา ๒ เดือนนี้ได้ทิ้งบาดแผลไว้ในจิตใจของผู้คนทุกฝ่าย หลาคนต้องสูญเสียคนรักของตัวเองไป หลายคนต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่า ทรัพย์สมบัติต่างๆ และที่น่าห่วงไม่น้อยก็คือว่าคนไทยทั้งประเทศตอนนี้แทบจะสูญเสียความหวังและ ศรัทธาในเพื่อนคนไทยด้วยกัน ตรงนี้เป็นงานที่เราจะต้องช่วยกันฟื้นฟูความหวัง ฟื้นฟูศรัทธาขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้ก้าวไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยใส่เสื้อสีอะไร คิดแตกต่างกันอย่างไร อาตมาคิดว่ามันยังมีโอกาสที่เราจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้
แทนคุณ ครับ ณ วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความสูญเสียความหวัง ความศรัทธา กับความกลัว และความเกลียดชัง ซึ่งมันจะเป็นแรงผลักดันให้คนพร้อมที่จะประหัตประหารกันได้ในระดับหนึ่งนั้น นะครับ ในหลายๆ พื้นที่ก็แล้วแต่ แต่ถ้าวันนี้นี่สิ่งที่อยากเห็นจริงๆ ก็คือเราจะยุติสิ่งเหล่านั้นได้ แต่ทำอย่างไรถึงจะทำให้ความเกลียดชัง ความกลัว มันสลายหายไปกลายเป็นความให้อภัย ความมีเมตตา และคำนึงในความดีงามถูกต้องที่แท้จริงครับ
พระไพศาล ก่อนที่จะเยียวยาหรือบรรเทาความเจ็บแค้น ความเจ็บปวด เราจะต้องไม่เพิ่มเติม ไม่ซ้ำเติมให้มันหนักขึ้น ที่ผ่านมาก็หนักหนาพอแรงอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเราละเว้นที่จะกล่าวหาโจมตี หรือแก้แค้นกัน ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือด้วยการกระทำ ก็จะไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่านี้ สิ่งที่อาตมาอยากจะวิงวอนก็คือว่า ตอนนี้คนที่เป็นแนวร่วมหรือผู้สนับสนุน นปช. ที่ไม่ได้ชุมนุม มีเยอะมาก มีหลายสิบเท่าของผู้ชุมนุม เป็นผู้ที่สนับสนุนด้วยการดูโทรทัศน์ คนเหล่านี้มีอยู่มากมายในกรุงเทพ แต่เขากำลังจะถูกคนรอบข้างมองว่าเป็นจำเลยของสังคม โดยเฉพาะตอนนี้ นปช. ถูกมองว่าเป็นผู้พ่ายแพ้ ก็จะถูกโจมตี ถูกกล่าวหาต่างๆ คนที่เป็นแนวร่วมที่อยู่ในบ้านเรา อยู่ข้างๆ เรา เขาถูกแวดล้อมด้วยคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา และคนที่ไม่เห็นด้วยกับเขาอาจจะโจมตี อาจจะกล่าวร้าย หรือว่า
แทนคุณ ซ้ำเติม
พระไพศาล ซ้ำเติม ทับถม และสมน้ำหน้า โดยเฉพาะสมน้ำหน้าที่ทำให้บ้านเมืองพินาศ เผาบ้านเผาเมือง คำพูดอย่างนี้จะทำให้เกิดความเจ็บแค้นมากขึ้น ตอนนี้เขารู้สึกว่าเป็นผู้พ่ายแพ้อยู่แล้ว พอมาถูกซ้ำเติมก็จะยิ่งโกรธแค้น และอาจจะทำสิ่งที่ไม่ควรทำก็ได้ อาจจะทำกับคนที่อยู่รอบข้างหรือทำกับสังคมส่วนรวม เพราะฉะนั้นอาตมาจึงอยากจะวิงวอนว่าตอนนี้เราอย่าไปซ้ำเติมคนที่เป็นแนวร่วม เสื้อแดง เพราะว่าเขาเหล่านี้อาจจะไม่ได้ไปชุมนุมเลย หรือถึงจะไปชุมนุมก็ไปชุมนุมอย่างสันติ เขาไม่ได้ไปเผาบ้านเผาเมือง ตรงนี้เราก็จะต้องเข้าใจ และอ้าแขนรับให้เขากลับมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพราะคนเหล่านี้อาจจะเป็นคนในบ้านของเรา แต่ความขัดแย้งกันทำให้บางคน บางแห่ง ไม่นับญาติ ไม่นับมิตร อยากจะเชิญชวนให้เราอ้าแขนรับเขากลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพี่เป็นน้องกัน อาตมาอยากให้เริ่มตรงนี้ก่อน
แทนคุณ น่าสนใจมากนะครับคือไม่เหมารวม ไม่เหมารวมว่าคนทุกคนที่เป็นคนที่เห็นต่าง เป็นแนวร่วม นปช. ในกลุ่มเสื้อแดง หรือเป็นใครก็แล้วแต่เป็นศัตรูกับเราทั้งหมด ถึงแม้เขาจะเกิดความผิดพลาดในบางอย่างขึ้น เช่นไปเชื่อแนวคิดของคนบางคนที่ดำเนินการไป ต้องแยกแยะให้ออก และก็พร้อมที่จะให้โอกาส นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราต้องคุยกันในวันนี้เพื่อจะให้เกิดการปรองดอง
สันติสุข ครับ และก็อยากจะกราบนมัสการถามพระคุณเจ้า ก็คือว่า ทัศนคติหรือว่าท่าทีของทางฝ่ายรัฐบาลก็ดี คนในสังคมก็ดี อย่างที่พระคุณเจ้าพูดเมื่อสักครู่ที่ไม่ไปซ้ำเติม ผมได้ไปติดตามอ่านคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณกรณ์ จาติกวณิช ท่านให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติ นะครับ สื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือว่ารัฐบาลชนะใช่ไหม คุณกรณ์ จาติกวณิช ตอบว่า ไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ถ้าจะให้เป็นชัยชนะก็คงต้องเป็นสภาพที่บ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบสุข นั่นต่างหากจะเป็นชัยชนะของประเทศชาติซึ่งสำคัญที่สุด คุณกรณ์ ให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้ ทัศนะหรือท่าทีในลักษณะนี้ ช่วยได้ไหมครับ
พระไพศาล ใช่ ต้องมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องแพ้ เรื่องชนะ คนเสื้อแดงก็ไม่ควรจะมองว่าตัวเองแพ้ และคนอื่นก็ไม่ควรมองอย่างนั้น ขณะเดียวกันคนที่เป็นปฏิปักษ์ หรือว่าต่อต้านเสื้อแดงก็ไม่ควรมองว่าตัวเองชนะ เพราะอันนั้นมันไม่ใช่ความจริง เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าเราทั้งหมดเป็นผู้แพ้ เป็นผู้สูญเสีย ใช่ไหม ต้องมองว่า ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ที่สูญเสีย เป็นผู้ที่ถูกกระทำจากเหตุการณ์ เราตกอยู่ภายใต้ความผันผวนของเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องมาทำอย่างนี้ ซึ่งมันไม่สมควรเลย
ถ้าหากว่าทุกฝ่ายมองว่านี่ไม่ ใช่เรื่องของการแพ้ชนะ นี่คือเรื่องความสูญเสีย อาตมาคิดว่าเรามีโอกาสที่จะเริ่มต้นกันใหม่ เราจะไม่มาเสียเวลาทะเลาะกัน เราจะไม่มาเสียเวลาชี้นิ้วเพ่งโทษกัน แต่เราจะตระหนักว่า ในเมื่อเราแพ้ทั้งคู่ เรามีหัวจิตหัวใจด้วยกันคือเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เพราะฉะนั้นเรามาร่วมกันสร้างประเทศ ร่วมกันบูรณะประเทศกันใหม่ และร่วมกันเรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา อาตมาคิดว่า สิ่งที่คนเสื้อแดงได้ทำ ได้พูด มันมีสาระสำคัญที่เราต้องตระหนัก ต้องฟัง นั่นก็คือ เรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม เรื่องความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ เรื่องสังคมสองมาตรฐาน นี่เราต้องฟัง ในบางเรื่องเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขา แต่สองสามเรื่องที่ยกขึ้นมา อาตมาคิดว่าเราควรจะฟัง ท่านนายกรัฐมนตรีเอาเรื่องนี้มาอยู่ในวาระแห่งชาติ อาตมาคิดว่าคนไทยในส่วนอื่นก็ควรเห็นพ้องในเรื่องนี้ และขับเคลื่อนไปด้วยกัน ถ้าทำเช่นนี้ก็จะไม่มีใครแพ้เลย เสื้อแดงก็จะชนะเพราะว่าสิ่งที่ตัวเองพูด สิ่งที่ตัวเองได้พยายามเรียกร้อง มันสัมฤทธิ์ผล ส่วนประชาชนส่วนอื่น ๆ ถ้าหากทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นจริง คือการปฏิรูปประเทศ บ้านเมืองเราก็จะมีความสุข บ้านเมืองเราก็จะมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกฝ่ายได้หมดนะ ไม่มีใครที่เสียเลยถ้าหากว่าเราฟัง และเราพยายามทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นมา
สันติสุข นมัสการถามพระคุณเจ้าต่อไปนะครับว่า การสร้างความเกลียด กับความรัก ผมไม่แน่ใจว่าอย่างไหนสร้างง่ายกว่ากัน สร้างยากกว่ากัน ในขณะเดียวกันการทำให้เลิกเกลียดหรือเลิกรัก ผมก็ไม่แน่ใจว่าอย่างไหนทำยากทำง่ายกว่ากัน แต่ปัญหาเบื้องหน้าในวันนี้เนี่ย อย่างที่คุณมนตรีสะท้อนก็คือว่า กรณีของผู้ชุมนุมล็อตสุดท้ายที่อยู่ในวัดปทุมฯ เนี่ย ซึ่งออกมาด้วยความประหวั่นพรั่นพรึงในใจ ความหวาดวิตก ออกมาด้วยความรู้สึกเหมือนออกมาอีกโลกหนึ่ง ทั้งๆ ที่โลกที่เขาเคยชุมนุมอยู่ เขาถูกฝังหัวมาตลอดว่าเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะฆ่าเขาตลอดเวลา เขาออกมาอย่างนั้นจริงๆ ในภาพข่าวท่านผู้มีเกียรติก็คงจะเห็น อันนี้ก็เป็นตัวสะท้อนอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ได้รับ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ การป้อนข้อมูลข่าวสารให้กับคนในสังคมเราเนี่ย มันต่างกัน มันทำให้คนบางกลุ่มเกลียดคนอีกกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่พวกตนอย่างชนิดที่เรียกว่า เกลียดกันมากๆ เนี่ย ตรงนี้เราจะถอนพิษยังไงครับ ความเกลียด แล้วเราจะสร้างความรัก สร้างได้ยังไงครับ
พระ ไพศาล ความโกรธเกลียดที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการรับรู้มากเลย ทุกวันนี้คนไทยเราดูสื่อที่ตรงกับใจเรา ตรงกับความคิดของเรา เช่น คนเสื้อเหลืองก็ดู ASTV ใช่ไหมครับ คนที่เป็นเสื้อแดงก็ดูพีเพิ่ล แชแนล ใช่ไหมครับ อันนี้มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไป สมัยนี้เราสามารถเลือกดูสื่อที่ตรงใจเราได้ง่ายมาก เว็บไซต์ไหนที่เห็นด้วยกับเรา เราก็จะดูเว็บไซต์นั่นแหล่ะ เราจะไม่ดูอันอื่นเลย ในอเมริกา คนอเมริกันจำนวนหลายล้าน นับสิบล้านที่เชื่อว่าบารัก โอบาม่า ไม่ใช่คนอเมริกันโดยกำเนิด แต่เกิดที่เคนย่า คนเหล่านี้เชื่ออย่างฝังใจเลยว่าบารัก โอบาม่าไม่มีสิทธิเป็นประธานาธิบดี เพราะไม่ได้เกิดในอเมริกาแต่เกิดประเทคอื่น คนเหล่านี้บางคนจบปริญญาเอก จบปริญญาโท แต่ก็ดูสื่อแต่ของเขา สื่อของรีพับลิกันฝ่ายสุดโต่ง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
เวลานี้เราเลือกดูสื่อเฉพาะที่ มันตรงใจเรา เหมือนกับเราดูโทรทัศน์ ช่องไหนที่ไม่ถูกใจเรา เราก็กดรีโมทคอนโทรลเปลี่ยนช่อง เราไม่ชอบโฆษณาเราก็กดรีโมท นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงด้วย เขาดูแต่สื่อของเขา และก็ฟังแต่การปราศรัยบนเวที ก็เชื่อว่าอันตรายมีอยู่รอบตัวโดยเฉพาะจากทหาร แต่นี้ก็เกิดขึ้นกับคนทั่วไปเหมือนกันนะ คนทั่วไปก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือว่ารับรู้แต่สื่อด้านเดียว อาตมาคิดว่าตรงนี้มันทำให้เกิดกำแพงที่ปิดกั้นกัน ทำให้ไม่เข้าใจกัน และความไม่เข้าใจกันก็ทำให้เกิดความเกลียดชัง และความเกลียดชังก็ทำให้เกิดความรักไม่ได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะทำให้เกิดความรักกันได้ จะต้องสร้างความเข้าใจให้เห็นซึ่งกันและกันเป็นมนุษย์
ตอนนี้เราไม่ได้เห็นซึ่งกันและ กันเป็นมนุษย์ เราเห็นแต่สีเสื้อของเขา เราไม่สามารถจะมองทะลุสีเสื้อให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของเขา เราเห็นแต่ป้ายที่เราประทับให้แก่กันและกัน เวลานี้มีตีตราประทับป้ายกับทุกคน คุณแทนคุณ ก็โดน อาตมาก็โดน คุณมนตรีก็จะโดนด้วย คุณสันติสุขก็เหมือนกัน เวลานี้ทุกคนพร้อมจะตีตราประทับป้ายให้กับคนอื่นที่พูดไม่ถูกใจเรา เมื่อเราตีตราประทับป้ายเขาก็เลยทำให้ไม่เห็นตัวตนที่แท้ของเขา คือความเป็นมนุษย์ ตรงนี้อาตมาคิดว่าคนไทยเราจะรักกันได้ต้องปลดป้ายออก หรือทำลายกำแพงที่มองไม่เห็นที่ขวางกั้นเรา
สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำได้แต่ไม่ ทราบจะทำกันหรือเปล่า ก็คือ อาตมาขอใช้คำว่า “เปิดหน้าต่าง” คือว่าเปิดให้มองเห็นข้างนอก สื่อทั้งหลาย ถ้าสามารถะทำหน้าที่เป็นหน้าต่างทำให้คนได้รู้จักคนอื่นที่แตกต่างจากเรา คนพุทธรู้จักคนมุสลิม คนมุสลิมรู้จักชาวพุทธ คนในชนบทรู้จักคนในเมือง คนในเมืองเห็นคนชนบท และเข้าใจกันมากขึ้น ความเป็นมนุษย์จะเกิดขึ้น แล้วความรักกันก็จะตามมา
แทนคุณ พระอาจารย์ดูเหมือนว่าจะมีข้อคิดตรงกัน หลายอย่าง เช่น เรื่องของความไม่รู้ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนะครับ ถ้าเป็นหลักพุทธก็คือ พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธต่างๆ นี้นะครับ พระอาจารย์อยากจะให้มีการลงไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างไร เพราะตอนนี้ความทุกข์ที่มันครอบงำผู้คนมากมายนี่นะครับมันก็ทำให้จิตใจในการ ที่จะมาร่วมพัฒนา ความไว้เนื้อเชื่อใจต่างๆ มันก็ลดทอนลงไปพอสมควร เราจะดึงศรัทธาอย่างไรที่จะทำให้เกิดพลังในการที่จะขับเคลื่อนสังคมไปในทิศ ทางที่ดีขึ้นครับ
พระไพศาล ความรักหรือการให้อภัย มันต้องแปรเป็นการปฏิบัติ ในทางพุทธศาสนาจะมีธรรมะอยู่ ๒ หมวดที่คู่กัน อันแรกก็คือพรหมวิหาร ๔ คนไทยเรารู้จักดี คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทั้งหมดเป็นเรื่องการทำใจ แต่ว่ายังมีธรรมอีกหมวดหนึ่ง เป็นเรื่องการปฏิบัติ คือเมื่อมีเมตตากรุณาแล้วก็ต้องมีหลัก สังคหวัตถุ ๔ สังคหะคือ สงเคราะห์ทำให้เชื่อมกัน ยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้เกิดสามัคคีธรรม ได้แก่ ทาน ทานก็คือการแบ่งปัน แบ่งปันนี้ไม่ใช่แบ่งปันแบบให้ทาน แต่ว่าหมายถึงการแบ่งปันทรัพยากร ตอนนี้เราพูดถึงเรื่องความรวยความจน เรื่องชนชั้น จะต้องมีการแบ่งปันกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมกัน หรืออย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ข้อสองคือ ปิยวาจา พูดเพราะ ไม่ซ้ำเติม พูดให้กำลังใจ ข้อสามคือ อัตถจริยา การกระทำที่สร้างสรรค์ คือ ลงมือช่วย ลงมือกระทำ เช่น อาจจะช่วยพัฒนาชนบท ช่วยเหลือคนยากคนจน ข้อสุดท้ายคือ สมานัตตตา สมานัตตตาหมายถึงการปฏิบัติกับผู้อื่นเสมอกับตน ไม่ยกตนข่มท่านหรือไม่ยกตนสูงกว่าท่าน ข้อนี้ก็ตรงกับที่ทางฝ่ายเสื้อแดงบอกว่ามันมีการแบ่งเป็นไพร่ เป็นอำมาตย์ แสดงว่าธรรมข้อนี้ขาดไป ในพุทธศาสนา ถ้าเรามีสมานัตตา ก็จะไม่มีการดูถูกว่าเป็นไพร่ ไม่มีการถือตัวว่าเป็นอำมาตย์ ตรงนี้อาตมาคิดว่า เราจะต้องเอาหลักสังคหวัตถุ ๔ มาใช้ให้เป็นผลในทางปฏิบัติ เรามีเมตตากรุณาดีแล้ว แต่ต้องนำไปสู่การกระทำ เพราะถ้าเรามีการกระทำอย่างที่อาตมาว่ามันจะช่วยทำให้เกิดความสมานกันได้ดี ขึ้น
แทนคุณ ขอเรียนถามตรงนี้นิดนึงนะครับ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็จะมีเรื่องของโลกธรรมอย่างเช่นโลกก็จะเป็น ตำแหน่งทางสังคมก็ดี อะไรต่างๆ หรือว่าบทบาททางสังคม แต่ในทางธรรมอาจจะเป็นอย่างนั้น แม้แต่ในทางธรรมเองก็ยังมีแบ่ง บัวเป็น ๓ เหล่าบ้าง ๔ เหล่าบ้าง ตรงนี้สมานัตตตาจะทำอย่างไรให้สมดุลย์ทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งทางโลกและทางธรรมครับ
พระไพศาล สมานัตตตา ในทางธรรมหมายถึงการเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ถึงแม้ว่าเราจะมีตำแหน่งสูงกว่า เราเป็นเจ้านาย แต่ว่าคนที่เป็นลูกน้อง เป็นภารโรง เขาก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนเรา เราไม่ดูถูกเขา ใช่ไหมครับ เราเป็นผู้ใหญ่ เราก็เห็นลูกน้องว่าเป็นมนุษย์เหมือนเรา เขามีสติปัญญาเหมือนกับเรา แม้กระทั่งพระกับฆราวาสก็มีสมานัตตตาแก่กันได้นะ
คราวนี้เรื่องของสถานะทางสังคม นี้ มันมีความสูงต่ำกันได้ มันเป็นเรื่องของโลก แต่ในเรื่องของจิตใจ เรื่องของธรรม มันทำให้เกิดขึ้นได้ แม้แต่สังคมอย่างตะวันตก ถึงแม้ว่าจะมีผู้จัดการ ถึงแม้จะมีภารโรง แต่เราก็เห็นว่า เขาก็พยายามปฏิบัติกันอย่างเสมอกัน อย่างอเมริกาก็เป็นสังคมที่ แม้ผู้คนจะมีสถานภาพต่างกัน แต่ว่าในเรื่องการปฏิบัติต่อกัน เขาก็ถือว่าควรจะเคารพกัน ไม่ควรมีการแบ่งแยกแบ่งชนชั้น ไม่ควรมีความรู้สึกกีดกันหรือดูถูกกัน อาตมาคิดว่านี่ทำได้
แทนคุณ แล้วระบบอาวุโสในสังคมล่ะครับ บางคนก็บอกเป็นระบบอุปถัมภ์บ้างในบางกรณี เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อหวังตำแหน่ง ขณะเดียวกันผู้มีตำแหน่งกว่า การจะไต่เต้าขึ้นไป ต้องเข้าหาเส้นสาย หรืออะไรบ้างอย่าง หรือในแง่ดีก็มี ผู้หลักผู้ใหญ่ มีอายุมากกว่า แล้วอาจจะแสดงความคิดเห็นอะไรที่ขัดแย้ง ซักค้านอะไรบางทีก็ไม่ค่อยได้ คนเขาก็จะมองว่าไม่มีสัมมาคารวะ ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่ มันจะเข้าเป็นสองมาตรฐานกับสมานัตตตาไหมครับ
พระไพศาล ในเมืองไทย ในพุทธศาสนา หรือตามประเพณีไทย ผู้อาวุโสต้องมีเมตตาต่อผู้น้อยใช่ไหม แต่ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นมนุษย์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ก็ต้องมี เหมือนกัน แม้ว่าเราจะฉลาดกว่าเขา มั่งมีกว่าเขา แต่ว่าเราปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เป็นคนเสมอกัน อันนี้ทำได้ แล้วก็ให้มองว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ในทางพุทธศาสนานี่เราจะมองแบบนี้หมดเลย เราปฏิบัติต่อสัตว์ ก็ปฏิบัติต่อสัตว์ในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ด้วย รวมทั้งเคารพชีวิตของเขาด้วย
แทนคุณ คือทุกๆ ชีวิตมีคุณค่าเท่าเทียมกัน การให้ความสำคัญกับทุกชีวิตนั้นคือความหมายของการไม่เลือกปฏิบัติว่าชีวิต นั้นชีวิตนี้ไม่มีความสำคัญ แต่ว่าทุกชีวิตมีความสำคัญ แต่ว่าทำหน้าที่ในบริบทที่แตกต่างกันก็อาจจะให้ความดูแล หรือว่าความเข้าใจ การตอบแทนที่แตกต่างกันบ้างตามอัตภาพใช่ไหมครับ
พระไพศาล จริงๆ ในรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่า ทุกคนมีความเสมอภาคกันทั้งโดยศักดิ์และสิทธิ มีศักดิ์ศรีเท่ากัน อันนี้ก็สอดคล้องกับหลักสมานัตตตา
สันติสุข ครับ เมื่อสักครู่คุณมนตรีได้พูดถึงความรู้สึกในใจของคนที่ ของพี่น้องเสื้อแดงที่ในช่วง ๒ – ๓ วันที่ผ่านมา ผมอยากจะเติมมุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจนะครับ คุณวีระ มุสิกพงษ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตย หรือว่า นปช. นี้นะครับ ท่านออกมาพูดวันนี้มีมุมมองบางส่วนที่น่าสนใจ บางตอนนะครับ ผมเอามาจากเว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ คุณวีระบอกว่าอย่างนี้นะครับ “เหตุที่เกิดเมื่อ ๒ – ๓ วันที่ผ่านมา อาจจะทำให้พี่น้องตกอยู่ในอารมณ์เศร้าและผิดหวัง ผมมีความเข้าใจ ก็อยากให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจด้วยเช่นกัน อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหาสันติ สลายความโกรธที่มีต่อกันแม้ว่ามันจะทำได้ยาก แต่ขอเรียนว่าความโกรธไม่อาจจะสร้างสันติได้อย่างแท้จริง และประชาธิปไตยก็ไม่อาจจะสร้างขึ้นได้ด้วยความแค้น ความอคติ สิ่งที่ดีงามจะสร้างขึ้นได้ด้วยความอหิงสา” อันนี้คือคำพูดของคุณวีระ มุสิกพงษ์ ประธาน นปช. อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะกราบเรียนถามต่อนะครับ แต่ก่อนจะถามต่อเรื่องการให้อภัย อยากจะเน้นย้ำนิดนึงก็คือว่า เราพูดถึงการให้อภัยกันมานิดนึงเมื่อสักครู่ แต่ว่าทุกท่านที่พูดการให้อภัยเนี่ยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าปัญหาการกระทำผิด ทั้งหลายในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และทุกอย่างก็ไปยุติที่กระบวนการยุติธรรมนะครับ การให้อภัยในที่นี้เป็นเรื่องของจิตใจ การให้อภัยในมิตินี้ กราบนมัสการถามพระคุณเจ้าก่อน ก็คือว่าบางคนเข้าใจว่าการอภัยคือการลืม พยายามลืมสิ่งที่เกิดขึ้น พยายามลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จริงๆ การอภัยนี่มันคืออะไรครับ จำเป็นต้องลืมไหมครับ
พระไพศาล ไม่จำเป็นต้องลืม แต่เราควรให้อภัย เราให้อภัยอย่างน้อยก็เพื่อประโยชน์ของเรานะครับ คือเพื่อลดความเจ็บปวดเจ็บแค้น เพราะตราบใดที่ยังมีความโกรธ ยังมีความแค้น เราเองก็ทุกข์ ไฟแค้นไฟโกรธมันเผาลนจิตใจใช่ไหมครับ ถ้าเราไม่รู้จักให้อภัย เราเองก็จะทุกข์ แล้วคนอื่นที่อยู่รอบข้างก็จะทุกข์ ลูกเมียก็จะทุกข์ เพราะว่าเราเครียด เราก็ระบายใส่เขา คนในที่ทำงานก็จะทุกข์ ฉะนั้นการให้อภัยจึงเป็นหน้าที่ที่เราควรทำกับตัวเอง เราควรสร้างความสงบสุขแก่จิตใจของเรา นี่คือหน้าที่พื้นฐานของมนุษย์คือสร้างความสงบสุขให้แก่ตัวเองอย่างชอบธรรม การให้อภัยมีประโยชน์ตรงที่อย่างน้อยก็ทำให้เรามีความสุข ไม่เคียดแค้น
เราควรให้อภัยแต่ไม่ควรลืม เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำให้เกิดความผิดพลาดอีก เหตุการณ์ร้าย ๆ ในอดีต จะมีสองส่วนเสมอ อันที่หนึ่งก็คือว่า มันให้แง่คิด อันที่สองมันให้ความเจ็บปวด อันนี้หมายถึงเรื่องร้ายนะ อาตมาเปรียบเหตุการณ์ในอดีตที่เลวร้ายเหมือนกับว่าทุเรียน ทุเรียนนี่มันมีหนามแหลม เวลาเราจะกินทุเรียนต้องทำอย่างไร ต้องผ่าเปลือกออก ในนั้นมันจะมีเนื้อหวาน รสอร่อย ประสบการณ์ที่เจ็บปวดก็เหมือนกัน มันมีหนามแหลม ถ้าเราแตะไม่ถูก เกี่ยวข้องไม่เป็น เราก็เจ็บ เราต้องรู้จักเอาหนามแหลมออก และสิ่งที่เราจะได้รับคือบทเรียน ประสบการณ์เจ็บปวดในอดีต ถ้าเรารู้จักถอดเอาสิ่งที่เป็นหนามแหลมออก เราจะได้บทเรียนที่มีค่า ฉะนั้นเราไม่ควรลืม
การให้อภัยเปรียบเหมือนกับการ ผ่าเปลือกทุเรียนออก สิ่งที่เหลือก็คือบทเรียน ผ่าเปลือกออก แล้วเราก็ได้บทเรียน อาตมาคิดว่าประสบการณ์นี่เราต้องแยกว่ามันมีส่วนที่ไม่ดีคือหนามแหลม และส่วนที่ดีคือบทเรียน ไม่ควรลืม ถ้าเราลืมก็เหมือนกับเราทิ้งทุเรียนไปทั้งลูก ทั้ง ๆ ที่ข้างในมีเนื้อที่อร่อย แต่ถ้าเราจดจำแต่ให้อภัยไม่ได้ ก็เหมือนกับเรากอดทุเรียนทั้งลูกเอาไว้ ก็ต้องเจ็บปวดเพราะโดนหนามแหลมทิ่มแทนตลอดเวลา การให้อภัยแต่ไม่ลืม เป็นทางสายกลาง คือไม่กอดทุเรียน และไม่ทิ้งมันไป แต่ผ่าเอาหนามแหลมออก เพื่อจะได้กินเนื้อที่อร่อย
สันติสุข ตรงข้ามเลยนะครับ อภัยนี่ไม่ใช่ลืม แต่ต้องจำ จำอย่างไม่เจ็บ
แทนคุณ เรียนรู้จากความผิด แต่ให้อภัยคนผิด ความผิดไม่ควรที่จะลืม แต่ว่าก็ไม่ถึงขนาดสร้างความเจ็บใจให้กับเรา และให้อภัยกับคนผิด เพราะคนทุกคนผิดได้ แต่ก็กระบวนการยุติธรรมก็ดำเนินต่อไป เรียนรู้ความผิดพลาดเพื่อที่จะไม่ได้ผิดพลาดต่อไป ผิดเป็นครู ผิดมากๆ ก็เป็นครูใหญ่
พระไพศาล ศัตรูของเราไม่ใช่มนุษย์ ศัตรูของเราไม่ใช่คนต่างสี ศัตรูของเราก็คือความโกรธ ความเกลียด ความพยาบาท
แทนคุณ กิเลส
พระ ไพศาล ใช่ รวมถึงความไม่รู้ และอคติ เพราะฉะนั้น เราควรจะเป็นศัตรูกับความไม่ดีเหล่านั้นไม่ใช่มองคนเป็นศัตรู ถ้าเรามองคนเป็นศัตรู เราจะใช้วิธีรุนแรง แต่ถ้าเรามองว่าความโกรธ ความเกลียดเป็นศัตรู เราจะใช้ความรัก เราใช้ความสัตย์ เราใช้ความจริง ใช้ความเมตตา มันจะเรื่องของสันติวิธีโดยแท้เลย
แทนคุณ ที่สำคัญถ้าใครได้เห็นภาพของการไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เป็นผู้ชุมนุม ก็จะเห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา มีลูก มีหลาน มีครอบครัวอยู่ และก็อยู่ด้วยความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา อีกมุมหนึ่งครับพระอาจารย์ครับ จริงๆ แล้วสิ่งที่เป็นตรงข้ามกับความรักนี่ไม่ใช่ความเกลียดชังอย่างเดียว แต่คือความเห็นแก่ตัว ทีนี้นี่ทำอย่างไรที่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมันมีเทคโนโลยี มีข้อมูลข่าวสาร มีระบบกลไกที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ ความโลภมันครอบโลก การแบ่งปัน ทำอย่างไรถึงจะไม่ คือผมเองเชื่อในการให้ที่บริสุทธิ์จริงๆ มันมีอยู่แต่ว่ามันมีน้อย และหลายคนอาจจะไม่ค่อยเห็นคุณค่า และขณะเดียวกัน โลกปัจจุบันมันเป็นโลกที่แย่งชิงทรัพยากรกันเยอะ ทำอย่างไรจึงจะหาสมดุลระหว่างการแข่งขันกับการแบ่งปันโดยมีความรักเป็น แกนกลางครับ
พระไพศาล อาตมาคิดว่าถ้าคนไทยเราได้มีโอกาสได้เห็นความทุกข์ของคนที่ลำบากยากไร้ เราจะเห็นใจกัน มนุษย์เรามีธรรมชาติคือเมตตา กรุณา อยู่ภายใน พอเราเห็นใครทุกข์ยากลำบาก เราเองอยากช่วยเหลือใช่ไหม หรือเวลาเราได้พบปะคนที่ลำบากยากแค้นนี่ เราย่อมเกิดเมตตากรุณาที่อยากจะคลายความทุกข์ของเขา อาตมาคิดว่าถ้าหากสังคมไทยเราเปิดโอกาส หรือมีหน้าต่างที่จะทำให้ผู้คนได้เห็นคนที่ทุกข์ยาก ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือก็จะเกิดขึ้น ความเห็นแก่ตัวก็จะลดลง อาตมาเชื่อเลยว่า เมื่อคนเราให้แล้ว เขาจะพบว่าการให้นี้คือความสุข แล้วความเห็นแก่ตัวก็จะลดลง เขาจะพบว่าความสุขที่แท้ไม่ได้เกิดจากการเสพ การได้ การครอบครอง แต่ความสุขที่แท้เกิดจากการให้ นอกจากให้วัตถุ ให้อภัย รวมทั้ง
แทนคุณ ให้ธรรมะ
พระไพศาล ให้ธรรมแล้ว ต่อไปก็ละทิ้งอัตตาตัวตนออกไป อาตมาคิดว่าตรงนี้มันจะช่วยทำให้เรามีภูมิต้านทานกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ เน้นเรื่องบริโภคนิยม กระแสโลกาภิวัตน์มันก็มีด้านดี แต่ว่าในเวลาเดียวกันนี่มันก็มีส่วนกระตุ้นความโลภ ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกันเราก็จะหลงพลัดเข้าไปอยู่ในความเห็นแก่ตัวได้ เพราะฉะนั้นนี่ อาตมาคิดว่าศาสนาก็ดี วัฒนธรรมก็ดี หรือว่าการมีกระบวนการที่ทำให้เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ จะช่วยทำให้เราเกิดความเมตตาและก็อยากจะช่วยเหลือเขา
ที่มา: http://www.visalo.org/columnInterview/TV11_530520.htm