บทสัมภาษณ์ : พระมหาพงษ์นรินทร์
เริ่มต้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานอาสาสมัครได้อย่างไร
ประสบการณ์งานอาสาสมัครเกิดขึ้นโดยอาตมาทำโครงการประกวดโครงงานเฉลิมพระ เกียรติเยาวชนไทยทำดีถวายในหลวง เราก็มีเงื่อนไขง่ายๆ คือ ให้ใช้แนวทางพระราชดำริ และหลักธรรมทางศาสนาของตัวเองที่เกี่ยวข้อง หรือหลักการศาสนาอื่นก็แล้วแต่ ให้เอาหลักการ กับหลักแนวพระราชดำริ พระราชดำรัสในหลวงมาทำเป็นโครงงาน ทำความดีถวายในหลวง การทำเป็นโครงงานก็คือให้ทำเป็นรูปธรรมทำเป็นระบบนั่นเอง ก็เอาฐานความรู้เดิมเรื่องโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นตัวส่งต่อองค์ความรู้ เขามีฐานความรู้เดิมเรื่องโครงงานวิทยาศาสตร์ แล้วตั้งเป็นประเด็นว่าเรื่องคุณธรรมสามารถตั้งเป็นโครงงานเหมือนโครงงาน วิทยาศาสตร์ได้ โดยให้เขาใช้หลักธรรมและแนวพระราชดำริ แล้วเราก็ตั้งประเด็นว่าให้เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง ปัญหาในโรงเรียน ปัญหาในชุมชน แล้วเวลาเขาเริ่มแตกปัญหาในชุมชนเขาก็จะเริ่มเห็น มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง พิการถูกทอดทิ้ง และเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดนี้เหมือนกับให้เขาลุกขึ้นมาทำงานโดยไม่มีผลตอบแทนเป็นงานอาสาสมัคร โดยรวม แต่โดยเนื้องานที่เป็นงานอาสาสมัครตรงๆ ก็มีอีกเยอะ เช่น อาสาสมัครในโรงพยาบาล อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชน อย่างนี้เริ่มมีเกิดขึ้นเยอะ สเกลที่จะมาทำมันทั่วประเทศคือครอบคลุมทั้ง 185 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เราก็ใช้โครงสร้างของ สปฐ. ซึ่งมีเขตพื้นที่ 185 เขตพื้นที่การศึกษา เราก็ส่งไป มันก็จะทำให้ตัวแปรกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ปี 49 มันก็โครงงานเกิดขึ้นประมาณ 1,200 กว่าโครงงาน ปี 50 ก็ เป็นหมื่นกว่าโครงงาน เป็นโรงเรียนมัธยม แต่พอปี 50 ขยายเป็นโรงเรียนระดับประถมด้วย
ถ้านับโดยรวมสภาวะของอาสาสมัครคือเขาลุกขึ้นมาทำด้วยความสมัครใจไม่ได้มี เงินเดือนตอบแทน ถ้าอย่างนี้ถือว่างานทั้งหมดเป็นอาสาสมัคร เราไม่ได้ให้เป็นเงินเดือน แต่เรามีทุนให้ ซึ่งทุนจะได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพงาน เขาก็จะมีกระบวนการคัดเลือก เป็นทุนเล็กๆ 5,000 3,000 4,000 การทำงานมันลงแรงเยอะมากกว่าใช้ทุน เพราะเป็นงานลงพื้นที่ โดยสภาพที่เด็กเข้าไปทำเป็นอาสาสมัครอยู่แล้ว แต่โดยเนื้องานจริงๆ ชื่องานมันบอกเลย มันจะมีชัดๆ เช่น งานอาสาสมัครในโรงพยาบาล อาสาสมัครในชุมชน ถ้าอย่างนี้จะแยกประเภทไปอีก ถ้าเจาะเป็นประเภทแบบนี้จะมีที่ทำอยู่ และเราพบว่าจิตอาสา มักจะมีแรงจูงใจจากภายในทำให้ทำต่อเนื่อง ไม่ว่าจะตกรอบก็ยังทำต่อ ไม่ว่าจะปิดไปแล้ว 1 เทอม 1 ปี ก็ยังทำต่อ และเราพบว่า ในปีที่ 2 ปีที่ 3 เด็กพวกนี้ก็ยังเข้ามาสู่โครงการโดยที่เขาบอกเองว่าเขาตกรอบปีที่แล้ว แต่เขายังทำอยู่ เป็นโครงการที่แปลกคือว่า ไม่ยึดติดกับการประกวด เราพยายามส่งต่อให้เขาไปถึงคุณค่าที่แท้จริง ต่อการทำ การประกวดจำเป็นต้องมี เพราะเราพิสูจน์แล้วว่า การทำโครงการโดยไม่ประกวดมันอีลุ่ยฉุยแฉก เฉื่อยแฉะ ไม่มีเดทไลน์ ไม่มีอะไร ไม่ค่อยยึดถือ จะกำหนดกฎเกณฑ์อะไรก็จะไม่ขลัง แต่เมื่อเป็นการประกวดเราต้องการให้เขาเรียนรู้ไปในทิศทางไหนเรากำหนดเกณฑ์ ในการประกวด กำหนดเดทไลน์ กำหนดอะไร เขาจะทำตามเราโดยภาพรวมเราจะบริหาร manage โครงการได้ การประกวดจึงมีความจำเป็นแต่เราจะไม่ไปติดในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นเรามีนโยบายชัดเจน และเรามีกระบวนการถอดเขาออกจากการแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งโครงการอื่นเขา จะไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพบคือ เขาจะทำโดยความสมัครใจอย่างมากโดยตัวงานพาเขาดิ่งลงไป ทำให้จิตใจของเขาซาบซึ้ง นี่เป็นภาพโดยรวม
บางโครงการเราสร้างเงื่อนไขให้มันสอดรับกับภาพโครงการที่มันต่อเนื่อง เช่น บางโครงการที่ประกวด พอประกวดเสร็จเขาก็จบ แต่ของเราเทอมหนึ่งเขาประกวดเสร็จระดับเขต เราก็มีต่อระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ลากมาถึงเทอมสอง พอเสร็จแล้วปุ๊บเรายังมีเงื่อนไขอีกว่าต้องทำต่ออีกปีหนึ่งสำหรับพวกที่เข้า เกณฑ์สูงๆ เราต้องการให้เป็นตัวอย่างที่ดี บางโครงการทำต่อเนื่องสามปีและมีแนวโน้มว่ามันเป็นปกติของเขาไปแล้ว เกิดกลุ่มก้อนที่มีอุดมการณ์ก็เป็นเรื่องของการระยะยาวต่อไป อย่างอาสาสมัครดูแลสุนัขและแมวที่โดนทอดทิ้ง ตามวัด อันนี้ที่ชลบุรี ทำมาสามปี ครั้งแรกเขาได้โล่พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ต่อมาก็จูงใจต่อว่าถ้าทำต่อเนื่องผลกระทบมันกว้างขวาง แพร่หลาย ก็จะได้รับโล่พระราชทานขั้นสูงสุดจากในหลวง โล่ประโยชน์สุขต่อมหาชน เขาก็ใช้แนวพระราชดำริเรื่องคุณทองแดง กับหลักธรรมเรื่องความเมตตา มาเป็นแกนทำโครงงาน เพราะฉะนั้นหลักธรรมโดนปรับมาเป็นรูปธรรม แนวพระราชดำริที่ไม่มีใครสนใจถูกทำให้เป็นรูปธรรมและแก้ปัญหาได้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งตัวอย่าง
บางโครงการที่เขาดูแลกันเอง เช่น ที่นครพนม เขาก็ไปสำรวจผู้สูงอายุในชุมชนมีใครบ้าง ทั้งที่ถูกทอดทิ้งและไม่ถูกทอดทิ้ง ส่วนใหญ่โดยภาวะของชนบทตอนนี้ลูกหลานย้ายไปทำงานที่อื่น ไม่มีคนดูแล เขาก็จะไปช่วยทำความสะอาดบ้าน ดูแลสุขภาพ วัดความดัน เท่าที่เขาจะทำได้ ไปชวนคุย แล้วก็เขาได้ผลพลอยได้ คือ ได้ภูมิปัญญา และองค์ความรู้จากคนเฒ่าคนแก่ และคนเฒ่าคนแก่ก็รู้สึกว่าลูกหลานมาดูแล และมันก็นำมาซึ่งการดูแลสุขภาพต่างๆ ตรงนี้เป็น model ที่อยากให้เกิดขึ้นทั่วประเทศเพราะว่า งานอาสาสมัครที่เป็นระบบแบบส่วนกลางที่ดูว่าเป็นระบบที่อาจจะไม่มีมิติของ ชุมชน อาจจะดูแข็งๆ บอกไม่ถูก ถ้ามันเป็นลักษณะที่เราทำให้ดูแลกันเองได้ ไม่ทอดทิ้งกันในระดับครอบครัวและชุมชน ทำให้รู้สึกว่ามีความยั่งยืน ตั้งแต่กระบวนการการสำรวจ จนกระทั่งมาถึงจิตสำนึกที่เกิดขึ้นที่จะเข้าไปทำ หลังจากเข้าไปทำจิตสำนึกเขาจะลงลึกมากขึ้น หยั่งรากลึกในเชิงของความมีน้ำใจ ผ่านไปปีหนึ่งแล้ว ปีนี้เขาก็ขยายผลต่อเนื่องและเขาก็ทำเชิงรุกไปถึงชุมชนให้ปลอดเหล้าปลอด อบายมุขด้วย เราจะเห็นเลยว่ามีวิวัฒนาการพอลงไปถึงชุมชน พอเป็นงานที่ดี มันจะเป็นวงจรของความเจริญ มันจะขยายผลไปในทางที่ดีขึ้น และก็ให้แรงจูงใจว่า ถ้าคุณทำต่อเนื่อง คุณก็จะได้โล่พระราชทานขั้นสูงสุด
ถ้าไล่ไปตามโครงงานระดับประเทศ คลินิกคุณธรรม เป็นอาสาสมัครที่เด็กนักเรียนขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาปัญหาให้กับเด็กนักเรียนใน โรงเรียนตัวเอง อย่างบางคนเครียดมาก เขาก็จะมีกระบวนการที่ลดปัญหาได้ เช่น บางคนเรียนตก เรียนไม่เก่ง ปัญหาเรื่องความรัก เขาก็จะมีกระบวนการอาสาสมัครเชิงที่ปรึกษาให้ใช้หลักธรรมเป็นเครื่องยึด เหนี่ยวจิตใจ โดยเด็กและคุณครูร่วมกันสร้างกระบวนการเรียกว่า คลินิกคุณธรรม
มีอาสาสมัครเชิงสิ่งแวดล้อม ลุกขึ้นมาปลูกป่าชายเลนและก็ทำเรื่องเกี่ยวกับความสะอาดของชุมชน เรื่องของการให้ดำรงตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จังหวัดตรัง เป็นอาสาสมัครเกี่ยวกับกระบวนการไปอบรม จัดค่ายคุณธรรม โดยเด็กเป็นวิทยากร เมื่อก่อนอาจจะต้องใช้พระเป็นวิทยากรอย่างเดียว แต่นี่คือเด็กเขาพัฒนาตัวเองเป็นวิทยากรที่จะอบรมได้ และอบรมผู้ใหญ่ อบรมหน่วยงานราชการด้วย ในภาคใต้ถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง และเขามีจุดขายที่โดดเด่นคือ เขามีสื่อสมัยใหม่ที่เขาทำเพลงคาราโอเกะธรรมะ ที่เอาเพลงสมัยใหม่มาแปลงเนื้อเป็นจุดขาย อบรมในรูปแบบคอนเสิร์ตก็มี เป็นที่ฮือฮามาก เป็นอาสาสมัครในส่วนของการอบรมธรรมะ
การทำต่อเนื่องในภายหลังไม่ได้มีทุนสนับสนุนต่อแล้วใช่ไหมคะ
มันมีพัฒนาการที่เขาหาทุนต่อเองได้ เช่น ระดมทุนเอง เรี่ยไรบริจาค หรือว่าไปต่อเชื่อมกับ อบต. เราก็พบว่ามีวิวัฒนาการว่า เด็กเขียนของบจาก อบต. ได้โดยตรง โดยผ่านการเชื่อมโยงจากโรงเรียน เมื่อก่อนนี้ผู้ใหญ่ต้องขอ แต่เขาพบว่าเมื่อเด็กขอเด็กขอได้ง่ายกว่า แล้วมันก็มีความรู้สึกว่าเป็นความภาคภูมิใจว่าลูกหลานของเขาทำเพื่อส่วนรวม และมีความสามารถเข้าสู่ระดับประเทศได้ โครงการของเรามันเป็นอุบายที่ได้ประโยชน์หลายต่อ คือ ทำให้เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจของท้องถิ่น และทำให้เด็กใช้โอกาสความภาคภูมิใจนี้ทำให้ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน แล้วเราก็เริ่มมีความยั่งยืน และมีเกณฑ์ข้อหนึ่งคือ เราต้องฉลาดในการกำหนดเกณฑ์ เกณฑ์ข้อหนึ่งคือ พึ่งตนเองได้ด้านงบประมาณด้วย นอกจากด้านอื่นๆ คือเรามีเกณฑ์หลายอย่าง เช่น เกณฑ์สร้างการมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด มีเกณฑ์เรื่องของการให้เขาพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ใช้งบประมาณให้คุ้มค่าที่สุด บอกแล้วว่าพอเราทำโครงการประกวด ข้อดีคือ เรากำหนดทิศทางได้ กำหนดเกณฑ์อะไรไปมันก็จะขลัง กำหนดเดทไลน์เขาก็จะพยายามทำให้ได้ตามเวลา เราเคยทดลองทำแบบไม่ประกวดอุดมการณ์มี สนใจนะ แต่เหมือนกับมีอย่างอื่นด่วนกว่า ก็ต้องทำอย่างอื่นไป ของเราเอาไว้ก่อนยังไม่ด่วน สุดท้ายแล้วพอนานๆ ไปต่างคนต่างลืม ต่างคนต่างเซ็งกันไปมันก็ไม่ได้งานที่ดี และไม่สามารถใช้คำว่าเชิงรุกได้ หมายความว่า ต้องทำอย่างเกาะติดสถานการณ์จนกว่าจะเห็นผล เพราะฉะนั้นการประกวดจึงเป็นรูปแบบที่จำเป็น แต่ว่าเราก็ไม่ยึดติดการประกวดเพราะเราพิสูจน์แล้วว่า ตกรอบแล้วยังทำก็มี เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราคัดเลือกตัวอย่างที่ดี และทำให้เรากำหนดกฎเกณฑ์ทิศทางของงานที่เราต้องการได้
ที่บุรีรัมย์ที่บ้านหนองติ้ว ก็น่าสนใจ เป็นเด็ก ม.ต้นเอง ก็เริ่มต้นจากสังเกตเห็นพ่อแม่ตัวเองในยุคเศรษฐกิจไม่ดี ทำงานหนักขึ้น ปวดเมื่อยร่างกายก็อยากจะเข้าไปนวดให้ พอไปนวดแล้วปรากฏว่าพ่อแม่ปวดมากขึ้นกว่าเดิม เขาก็เลยไปปรึกษาคุณครู คุณครูเขาก็บอกว่ามีภูมิปัญญานวดแผนไทยของหมู่บ้านลองไปหัดดู แล้วก็เกิดไอเดียว่าน่าจะทำเรื่องนี้เป็นโครงงาน เขาก็ทดลองทำจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน เช่น สมมติว่า มี 5 ท่า ทดลองกับปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา 20 – 30 คน ท่านวดไหนพึงพอใจมาก พึงพอใจน้อย ก็พบว่าท่านี้ปวดมากกว่าเดิม เช่น นวดขมับ ก็ไปปรับฝีมือ และเริ่มขยายผลไปหาเพื่อนคนอื่นในโรงเรียนและกลับไปนวดให้พ่อแม่ตัวเอง ก็ทำให้วิถีชีวิตในชุมชน พ่อแม่ทำงานเสร็จก็รีบกลับบ้านไปให้ลูกนวด เกิดความอบอุ่นในครอบครัว เป็นชั่วโมงที่พ่อแม่ลูกมีเวลาคุณภาพอยู่ด้วยกัน ลูกก็เกิดความกตัญญูกตเวที เกิดเวทีสาธารณะตรงที่ว่ามันก็จะมีปู่ย่าตายายบางคนที่ไม่ได้มีลูกหลานอยู่ โรงเรียนนี้ เขาจะมีจุดสาธารณะบริการในหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 3 จุด 4 จุด รวบรวมคนแก่ในหมู่บ้านมานั่งรวมกันนวด มันก็เกิดผลพลอยได้คือคนแก่มารวมตัวคุยกัน เด็กๆ ก็ได้นวด ก็ได้ฟังเรื่องราวของผู้สูงอายุ พอถึงช่วงพิเศษเขาก็จะตระเวนในตามบ้านพักคนชราบ้าง และตอนนี้ก็ได้ขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น กลายเป็นว่าจากมือเล็กๆ ของเด็กกลายเป็นงานของชุมชน ทั้งหมู่บ้าน กลายเป็นความภาคภูมิใจทั้งจังหวัด เราใช้โครงการของเราให้เป็นประโยชน์ และเป็นช่องทางให้หน่วยงานท้องถิ่นให้ความสำคัญ ทำให้เกิดเนื้องานที่แท้จริง เกิดจิตอาสาโดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปเข้าคอร์สฝึก อย่างนี้มันจะยั่งยืนกว่า ถ้าเข้าคอร์สฝึกก็ฝึกไปตามคอร์ส เหมือนการแต่งตั้งเป็นแล้วนะอาสาสมัคร แต่นี่เป็นโดยธรรมชาติ เป็นรูปแบบที่ยั่งยืนและเหมาะกับสังคมไทย
โครงการพวกนี้มันน่าสนใจมากว่าถ้าเราเก็บเกี่ยวหลายๆ อย่างออกมา และก็พยายามผลักดันให้ครบวงจรเราจะช่วยดูแลสังคมของเราให้มีฐานที่มั่นคง โดยงานมันบอกเลยว่ามันวิกฤตแล้วแต่มันมีแนวคิดที่จะแก้วิกฤตให้เป็นโอกาสได้ งานนี้เป็นตัวอย่าง แล้วที่เหลือที่เป็นด้านวิกฤตแต่ไม่รู้จักจะแก้อะไรเลย บนภาวะวิกฤตแปลว่ามีพื้นที่ต้องการงานอาสาสมัครเยอะมาก งานอาสาสมัครเกิดขึ้นโดยแทบไม่ต้องสำรวจเลย เขาสำรวจโดยการกลับไปสำรวจชุมชนตัวเอง แล้วเกิดกระบวนการจูงใจให้ลุกขึ้นมาคิดค้นงานอาสาสมัครในรูปแบบที่เหมาะกับ ชุมชนตัวเอง นี่น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะที่ดีที่สุด ส่วนกลางมีหน้าที่ยกย่องให้กำลังใจ ทำให้ปรากฏ แต่เราก็พบว่าถ้าส่วนกลางไม่เข้าใจก็จะเกิดการยื้อแย่งงาน เช่น ล่าสุด สสส. อยากจะทำบ้าง สสส. ก็ฟาดเงินมา 35 ล้าน อาตมาทำนี่แค่ระดับ 4 ล้าน 6 ล้านเองนะ แต่ว่างานออกมากว้างขวาง แต่ปีล่าสุดตัดเหลือ 3 ล้านกว่า สสส. อยากจะทำบ้าง เอาเงินมา 35 ล้าน ทำระบบเสียหมด อีลุ่ยฉุยแฉก ปั่นป่วนหมด คือ มีเงินแต่ใช้เงินไม่เป็น นี่ถ้าไงก็ฝากกลับไปบอกด้วยนะว่าคุณใช้เงินภาษีบาปแล้วก็มาทำบาปด้วยเพราะ ว่าเป็นเงินอาถรรพ์ คือ เขาไม่เข้าใจระบบราชการ จู่ๆ เขาเอาเงินไปให้ ศกศ. 35 ล้าน แล้วก็อยากจะทำใหม่ อาตมาเคยมีข้อแนะนำไปแล้วว่าอย่าไปทำอะไรใหม่ เพราะโรงเรียนเขามีความรู้สึกว่างานเขาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปทำอะไรใหม่ ช่วยกันไปยกย่อง หรือทำให้เกิดพื้นที่จริงขึ้นกับพื้นที่ที่มันเปิดตรงนี้ เพราะโครงการวิทยาศาสตร์เป็นพื้นที่สากลของโรงเรียน ใครจะเข้ามาส่งเสริมตรงไหนก็ได้ แต่ด้วย ego หรือทิฐิขององค์กรที่อยากได้อะไรใหม่ๆ แต่ไม่เข้าใจระบบราชการ ก็ดื้อ ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ที่ดูแลก็พยายามบอกแล้วว่าช่องทางควรจะเป็นอย่างไร เขาก็ถามมา อาตมาก็บอกไปแล้วว่าช่องทางควรเป็นอย่างไร เพราะมันหมื่นกว่าโครงงานเราดูแลไม่ได้หรอก เรามีงบอยู่แค่นี้ 3 – 4 ล้าน งบเยอะและใช้เป็นมีประโยชน์นะ แต่งบเยอะแล้วใช้ไม่เป็นนี่มันทำลาย เช่น พอไปเข้าระบบราชการ ราชการที่ไม่ใช่ส่วนที่ทำงานคู่กับที่อาตมาทำอยู่ ก็พยายามสร้างระบบใหม่ ก็เกิดการยื้อแย่งงานกัน โดยหน่วยงานราชการ แต่ยื้อแย่งกันเอาผลงาน แต่งานไม่ยอมทำ
มีแนวทางในการทำงานสนับสนุนงานดังกล่าวอย่างไรบ้าง
อาตมาลงไปเราลงไปทั้งตัว มีระบบตามประกบติด แล้วราชการทำอย่างไรก็แล้วแต่มันถูกตรวจสอบและถ่วงดุลโดย NGO อย่างเรา แต่ สสส. เล่นฟาดเงินไปเฉยๆ ไปที่หน่วยงานราชการ เขาก็หวานหมูล่ะสิ 35 ล้าน ทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปตรงไหนยังไม่รู้เลย แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นคือ อยากได้อะไรได้หมด คุณอยากได้ตรงนั้นตรงนี้ เขาก็ไปเขียน make ขึ้นมาได้หมด เป็น event เพราะ สสส. ชอบจัด event แล้วก็จบ ส่งเข้ามาได้หมื่นสองหมื่น ในขณะที่บางโครงการได้ห้าพัน สามพัน สี่พัน เสียระบบไหม ต่อไปมันจะเกิดวัฒนธรรมแบบ fake เราอุตส่าห์ฉีกออกมาแล้วนะเรื่องการทำความดี ของเราเป็นเรื่องจริงไม่ fake เหมือนโครงการอื่น โครงการอื่นเขามาเขียนเรียงความ วาดรูป สังเกตดูจะมีพวกนี้เยอะเลย แต่มัน fake หมดเลยนะ ทำอะไรก็ได้หมด อยากได้เรียงความดีก็ได้หมด อยากได้วาดรูปดีก็ได้หมด แล้วสังคมมันดีขึ้นไหม ตอบโจทย์ไหม มันเป็นการตัดขา กลุ่มที่สนใจจริงที่เขาทำแล้วเกิดจิตสำนึกแล้วเขาก็ทำต่อเนื่อง โอกาสที่โรงเรียนใหม่ๆ ที่จะเข้ามามันถูกเตะตัดขาไปเลย ไปทำระบบนั้นดีกว่า ระบบเฟคๆ เห็นไหมว่า มันมีอุปสรรค โดยเฉพาะหน่วยงานทั้งหลายมีพวกที่อยากทำบ้าง แต่ปัญญาไม่ถึง หรือจริงใจไม่พอ เอาตังค์ฟาดลงมาแล้วไม่ฉลาดพอที่จะเข้าใจระบบราชการ ผลสุดท้ายมันเสีย แทนที่จะช่วย มันทำลาย ฝากบอกไปดังๆ ด้วยว่า สสส. ทำลายพื้นที่ทำความดีไปอีกเยอะ และก็ทำให้เกิดภาพปลอมๆ เฟคๆ และตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เสียดาย
อาตมาเดินสาย เปลี่ยนรูปแบบใหม่แทนที่จะประกวดระดับภูมิภาค มีค่ายด้วย ประกวดด้วย อาตมามองว่าประกวดนี่เป็นอันดับสุดท้าย แต่เราจัดค่ายให้เขาเกิดแรงบันดาลใจในการทำความดี ถอดเขาออกจากการประกวดจนไม่ติดยึดเรื่องการแข่งขันเลย เราลงทุนเชิงกระบวนการ สสส.ทำไหม ไม่มีใครทำ เอาเงินฟาดลงไป ของเราประหยัดมากๆ และอาศัยความเป็นพระที่กินอยู่ไม่ได้มากอะไร ยังกลับตัวไม่สาย ถ้าฉลาดไม่ควรเอาเงินไปให้หน่วยราชการเขาตรงๆ พอเข้าราชการปุ๊บ ติดระบบปีงบประมาณอีก แล้วปีงบประมาณก็บีบให้เขาทำของคุณเฟค เพราะปีงบประมาณจะหมดตอนเทอมหนึ่ง กว่าจะทำอะไร กว่าโครงการจะคลอดก็จะหมดเทอมหนึ่งอยู่แล้ว พอคลอดปุ๊บจะหมดปีงบประมาณ นี่เป็นสาเหตุหลักที่ราชการในงานเป็นแบบเฟคๆๆ เพราะติดปีงบประมาณ แต่สิ่งที่อาตมาทำทำให้เราข้ามปีงบประมาณได้โดยเราไม่ต้องสนใจ เราก็ไปช้อนต่อ สปฐ. ทำช่วงเทอมหนึ่ง NGO เป็นรอยต่อจากเทอมหนึ่งไปเทอมสอง จนถึงปิดเทอมใหญ่ มันไม่กระทบ เพราะฉะนั้นงานมันจึงต่อเนื่องได้ เป็นการลดข้อจำกัดไม่ให้เกิดการเฟค สสส. รู้จุดอ่อนตรงนี้ไหม สสส. มี NGO มาทำไหม ถ้าไม่รู้แล้วฉลาดไม่พอ ความจริงก็ต้องยอมรับ ก็ต้องปรึกษาหารือ แต่ปัญหาคือ ปรึกษาไปแล้วก็ไม่เชื่อ จริงๆ แล้วควรปรึกษาก่อน อันนี้เอาเงินไปให้เขาแล้วจึงมาปรึกษา แล้วพอเขาไปเข้าช่องทางที่มันไม่ใช่ ไปเข้าหน่วยงานย่อยอื่นที่เป็นตัวแปรที่ไม่ได้ทำงานจริง มันก็เลยเป็นงานเฟคๆ เราจัดกับพื้นที่มา เรารู้เลยว่าหน่วยงานไหนจะได้งานจริง หน่วยงานไหนได้งานไม่จริง มันเป็นปัญหาค่อนข้างมาก แม้แต่หน่วยงานราชการเองปีนี้ เขาตั้งงบให้สำหรับโครงการนี้ไม่ใช่น้อย เป็น 50 กว่าล้าน ปรากฏว่าไปถึงเขตพื้นที่หน่วยงานอื่นมาขโมยเงินเด็กทำความดีไป เอาไปใช้อย่างอื่น ดูสิอาภัพขนาดไหน และมีหลายหน่วยงานที่กำหนดภารกิจว่าต้องจัดค่ายฝึกอบรมแต่ก็ไม่จัดเฉยๆ อย่างนั้น อ้างว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นหมด นี่เป็นปัญหาพอสมควรว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยที่เราไม่อยากให้มันเกิด เพราะฉะนั้นโครงการตรงกลางที่จะส่งเสริมจะต้องเท่าทัน แล้วก็ต้องมีความมั่นคง ซื่อตรง กับสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำอยู่ อนาคตข้างหน้าอาตมาก็ไม่ทราบ เพราะเราเองแหล่งทุนมาจากศูนย์คุณธรรม ได้ข่าวว่าเขาก็ถูกตัดงบจากรัฐบาลนี้ไปเยอะ จาก150 กว่าล้าน ก็เหลือ 40 ล้าน และถูกบีบให้ที่เคยหนุนคุณธรรมโดยทั่วไป ถูกบีบให้เน้นเรื่องคุณธรรมด้านเศรษฐกิจ ด้านธุรกิจ คิดดูว่ามันเลวร้ายขนาดไหน สปฐ. ก็ถูกตัดงบคุณธรรมเหมือนกัน ถ้า สสส. มีงบเยอะอยากจะสนับสนุน ถ้าไปสนับสนุนแบบเดิมก็อย่างที่ว่า แต่ว่าอาตมาก็มีมารยาทว่า แกอย่าไปหนุนเขา มาหนุนเราก็ไม่ได้ เพราะว่าเราก็จะต้องมีมารยาทที่จะไม่พูดอย่างนั้น
ปีนี้เราเปลี่ยนรูปแบบเป็น 8 ค่าย 8 ภูมิภาค เอาตัวอย่างเยี่ยมๆ ของแต่ละเขตพื้นที่มาอยู่ค่ายรวมกัน ถอดออกจากการแข่งขัน ให้รักกัน เกิดอุดมการณ์ในการทำความดี แล้วเราก็เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เกิดการปะกวดและเราพบว่า มีโครงงานเกี่ยวกับจิตอาสาเกิดขึ้นเยอะมากผิดหูผิดตา เพราะปีก่อนๆ เราปล่อยให้ภูมิภาคเขาประกวดกันเอง เราก็หงุดหงิดใจ อย่างงานที่เป็นสมทบ เขาก็ตกรอบ แต่เราไปเจอทีหลัง จิตอาสาดูแลผู้ป่วยด้วยดนตรีวิถีไทย ซึ่งดีมากๆ เลย เป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล จะขยายตัวนี้เป็น model ระดับประเทศ นี่ฝากไว้เลยนะ โรงพยาบาลระดับอำเภอ และโรงเรียนระดับอำเภอ ระดับจังหวัดมันมีทั่วประเทศ ถ้าจับคู่ matching ให้มันดี มันสามารถเพิ่มพื้นที่อาสาสมัครได้อย่างดีมากๆ และสามารถเกิดได้พึ่บพั่บเลย มันขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายมาเจอกันจริงจับแค่ไหน เด็กเขาไปที่โรงพยาบาลและเห็นภาพสะเทือนใจว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ไปเข้าโรงพยาบาล แออัดและเครียดมาก และก็มีคนเป็นลม เป็นแรงสะเทือนใจและเขาก็ปรึกษากัน ปรึกษาคุณครู คุณครูก็เลยแนะนำว่าทำเป็นโครงงาน เขาก็ทำเป็นโครงงานดู ปรึกษากับหมอที่โรงพยาบาล พัฒนาจนครบวงจรแทบจะทุกระบบในโรงพยาบาล เด็กก็เกิดการพลิกเปลี่ยน เด็กที่เคยมีปมด้อย พ่อแม่ครอบครัวไม่ครบ พอมาทำเหมือนได้ซ่อมแซมจิตของตัวเองที่ขาดหาย กลายเป็นว่าพอหัดที่จะให้แล้วได้รับ ได้เติมเต็มในส่วนที่ขาดหาย เป็นที่ปลื้มปิติมากแต่ตกรอบ อาตมาเลยต้องให้เป็นประเภทสมทบเข้ามา อาตมาก็เลยจริงๆ มีโครงการดีๆ แต่กรรมการตาถั่ว เราก็เลยเปลี่ยนเป็นไปจัดตามภูมิภาค และเราก็ไม่จัดเอง เราใช้วิธีให้เขาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประเมินกันเอง ประเมินตนเอง ก็ทำให้เขาเห็นงานที่หลากหลายของคนอื่น เกิดการยอมรับ และกรรมการด้วย เกิดการยอมรับจากองค์ประชุมทั้งหมดที่อยู่ในค่ายผลักให้เป็นผู้ประเมิน เขาก็ได้สวมหัวอกของคนประเมินบ้างจะได้รู้ว่าบางทีไปว่ากรรมการอย่างเดียวก็ ไม่ได้ จะรู้ว่ามันยาก ประเมินยาก ยิ่งโครงการเยอะๆ และมันก็เป็นเรื่องนามธรรมด้วยบางอย่าง ก็พบว่าโครงงานดีๆ ประเภทพวกจิตอาสาก็เข้ารอบมาเยอะ ซึ่งถ้าเมื่อก่อนเราปล่อยตามธรรมชาติ โครงงานดีๆ ตกรอบ นี่ก็เป็นเรื่องที่อยากจะให้ขยายผล
แนวทางการขยายผลการทำงานจะทำอย่างไร
อันหนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือเราคิดว่า คนที่ทำงานจิตอาสาเขาอยู่ในแวดวงสาธารณสุขด้วยส่วนหนึ่ง และแวดวงการศึกษาอีกส่วนหนึ่ง ถ้าจะจับคู่ matching โรงพยาบาลระดับจังหวัดระดับอำเภอ กับโรงเรียนระดับจังหวัดระดับอำเภอ จับคู่กัน เพราะว่ามันเหมือนกับเขาพิสูจน์ให้เรามั่นใจแล้วว่าเขาทำได้ แค่แต่ละที่หาวิถีที่ลงตัวของตัวเองในการ manage แล้วก็พบแล้วว่าหลายๆ ตัวอย่างเด็กเกเร เด็กแย่ๆ พลิกเปลี่ยนมาเป็นเด็กที่ดีเลย จากพื้นที่ของงานอาสาสมัคร และเด็กที่ดีอยู่แล้วที่เรียนเก่งและเห็นแก่ตัว ก็เปลี่ยนไปเป็นเรียนเก่งและมีน้ำใจ เราอยากได้สังคมอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าตรงนี้สามารถเดินหน้าได้ ทำไมต้องปล่อยตามยถากรรมด้วยล่ะ ทั้งๆ ที่มันสามารถที่จะมีคนเอื้อให้มันเกิดภาพทั่วประเทศ แนวทางที่สองคือ กระตุ้นให้ลงไปสำรวจโดยเฉพาะเรื่องผู้สูงอายุ เราพิสูจน์ซ้ำๆแล้วว่า มันทำให้เกิดพื้นที่อาสาสมัครจากใจ โดนใจ ยิ่งต่างจังหวัดมันมีนามสกุลไม่กี่สกุลหรอกในหมู่บ้านหนึ่ง แล้วมันก็เป็นการเชื่อมระหว่างคนสองวัยได้ดี เพราะวัยตรงกลางไปทำงาน แตกแยก มันก็กลายเป็นว่าเป็นวัยคนแก่ กับวัยเด็ก และวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังจะเหลื่อมไปทางอื่น พอเขาได้กลับเป็นแล้วภาวะของการที่รักท้องถิ่นจะกลับคืนมา การยับยั้งชั่งใจ มีผู้ใหญ่คอยตักเตือนก็กลับคืนมาโดยปริยาย เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดที่งดงามและอยากจะให้เกิดขึ้น
งานอาสาสมัครถ้าของแท้ต้องทำให้มนุษย์ได้พัฒนา ถ้าของปลอมก็คือเอาแค่เป็นฉากบังหน้า และมีผลประโยชน์แอบแฝงเบื้องหลัง ถ้าเราจัดอุบายดีให้เกิดจากรากฐานของชุมชนก่อน จะเกิดกระบวนการถ่วงดุลและปรับสมดุลกันเอง ผลประโยชน์น้อย แต่ส่วนกลางต้องรับในเรื่องที่มากกว่าชุมชนทำได้ เช่น ภัยพิบัติทั้งจังหวัด ต้องหาหน่วยอื่นไปช่วย และการช่วยบางครั้งต้องมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างอื่นไปช่วย ระบบการขนส่ง แพคเกจต่างๆ บางครั้งคนอยากจะบริจาคอะไรก็บริจาคและเป็นภาระของคนที่จะนำขอไปให้เขา ซึ่งมันไม่ได้มีการออกแบบเป็นการเฉพาะว่า ถ้าแผ่นดินไหว ถ้าน้ำท่วม อะไรบ้างที่จะทำได้ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารบ้าง เครื่องอุปโภคบริโภคที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด สามารถปรุงได้เลย ดูแลสุขภาพได้ดี น้ำถ้าไม่สะอาดจะมีอะไรที่ทำให้มั่นใจว่าใส่ตัวนี้เข้าไปแล้วฆ่าเชื้อแต่คน ไม่เป็นอันตราย คุณมีอะไรบ้าง ตรงนี้ควรจะมี และทำให้แพร่หลาย องค์ความรู้ที่คนจะเข้าถึง คิดว่าตรงนี้ส่วนกลางควรจะต้องขยับทำ
ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาระบบงานอาสาสมัคร
ภาพรวมที่อาตมาคิดใหญ่ไปกว่านี้คือ มันเป็นแรงบันดาลใจที่เราอยากให้งานอาสาสมัครเป็นไฟลท์บังคับอันหนึ่งใน กระบวนการพัฒนานักการเมือง อาตมามีบทความเรื่องการเมืองใหม่ การเมืองหัวใจมนุษย์ คือเป็นการเมืองที่มีหัวใจอยู่ที่การพัฒนามนุษย์ เราเห็นเด็กเหล่านี้มาทำงานอาสาสมัคร เราก็พบเลยว่า ถ้าเด็กเหล่านี้เติบโตมาทำงานการเมือง ประเทศไทยจะงดงามมาก แล้วก็ตั้งคำถามย้อนกลับมาว่า แล้วนักการเมืองปัจจุบันล่ะ มันเป็นเรื่องแปลกมาที่โฆษณาชวนเชื่อให้คนรักหัวปักหัวปำ รักข้างหนึ่งและเกลียดข้างหนึ่งให้สุดขั้วทั้งสองฝ่าย มาตั้งคำถามว่าที่หลงรักนี่เพราะอะไร เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวไหม ก็ไม่ เคยเห็นเขาทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวมไหม ก็ไม่เคยเห็น เพราะเมืองไทยยังไม่มีระบบตรงนี้อย่างจริงจัง แต่โฆษณาชวนเชื่อว่าเขารักชาติ รักประชาชน แต่ไม่เคยมีประวัติในการทำอาสาสมัครเพื่อส่วนรวมเลย ถ้าวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ถามว่าเราเชื่อเขาได้ไหม แต่คนไทยกลับเชื่ออย่างหัวปักหัวปำที่ทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้ เราหลงรักแบบโมหะ แบบความหลง แค่นี้เอง แต่ถ้าต่อไปการลงสมัคร ส.ส. ผู้ว่า กทม. ถ้าระบบอาสาสมัครแข็งปั๊ก คุณจะสมัครเป็น ส.ส. แล้วคุณอ้างว่าคุณทำงานเพื่อประเทศชาติ คุณเคยมีประวัติงานอาสาสมัครเพื่อส่วนรวมกี่ชั่วโมง กี่เดือน กี่ปี ขั้นไหน ถึงจุดหนึ่งจะพัฒนาระบบ อย่างฉือจี้ของเขาเป็นระบบเลย กี่ชั่วโมง กี่เดือน กี่ปี เป็นกี่ขั้น จนถึงระดับเป็นพี่เลี้ยงเลย ถ้ามีตรงนี้จะถูกสกรีนเลย ไม่ใช่แค่ว่าเป็นนามสกุลใคร ลูกใคร เมียใคร และสวมเสื้อพรรคนั้นปั๊บ คนไทยที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อแบบหลงๆ ก็พร้อมที่จะหลงรักหัวปักหัวปำ แล้วก็เลือก และเทิดทูนว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ และก็เกลียดฝ่ายตรงข้ามว่ามันชั่วๆ มันโมหะทั้งสิ้น บ้านเมืองก็เลยไม่พัฒนา
เพราะฉะนั้นงานอาสาสมัครที่สุดแล้วเราต้องการการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานที่สามารถวัดได้เป็นวิทยาศาสตร์ และควรเป็นเกณฑ์ข้อหนึ่งสำหรับการสมัครนักการเมือง หลังจากเลือกตั้งมาแล้วก็ต้องมีเกณฑ์ข้อหนึ่งว่าคุณต้องทำงานอาสาสมัครด้วย แรงของตัวเองกี่ชั่วโมง กี่เดือน ต่อไตรมาศ หรือครึ่งปี ก็กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ เป็น process ในการพัฒนานักการเมือง อาตมาตั้งคำถามว่า เราปล่อยให้นักการเมืองที่เป็นชนชั้นปกครองที่สำคัญที่สุดของประเทศมันด้อย พัฒนามากที่สุด ห่วยที่สุด แย่ที่สุด แย่กว่าสาวโรงงานอีก สาวโรงงานเขาเข้ามาทำงานโรงงานแล้วเขายังมี training อบรม ฝึกฝน พัฒนา บางที่เขาก้าวหน้า เขามีปฏิบัติธรรม มีสวดมนต์ ด้วย ถามว่านักการเมืองหลังจากเข้ามาทำหน้าที่นี้แล้ว มีกระบวนการ training อบรม พัฒนาอะไรหรือไม่ คนกลุ่มเดียวของโลกที่ไม่ต้องพัฒนาอะไรอีก ไม่ต้อง training อะไรอีก แค่นี้เองเขาคิดกันไม่ออก ว่าทำไมนักการเมืองมันถึงแย่ ถึงเลว ก็ในเมื่อเราคาดหวัง output อย่างไร process เราไม่มี ต้องการนักการเมืองดี เสียสละเพื่อส่วนร่วม แต่ process ไม่มีให้เขาทำเพื่อส่วนรวมหรือเป็นคนดี
อาตมามี 3 มาตรฐาน เรื่องรักชาติ รักส่วนรวม คือ เป็นคนดีมีศีลธรรมในศาสนาของตน ให้เกียรติศาสนาอื่น และมีความรู้ความสามารถ ซึ่ง 3 อย่างนี้จะต้องเป็นระบบ training ที่เป็นหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติวัดผลเป็นวิทยาศาสตร์และต้องทำด้วยแรงกำลังของ ตนเองไม่ใช่ไปเปิดงานแล้วไป ถ้ามันพัฒนาขึ้นมาได้ต่อไปจะเกิดภาพงดงาม นายกกับผู้นำฝ่ายค้านเถียงกันน่าดูตอนอภิปราย พอหยุดปุ๊บ อ้าว ไอ้สองคนนี้เป็นอาสาสมัครด้วยกัน ไปแบกกระสอบ ฉือจี้นั่นเศรษฐีหมื่นล้านเขาไปแบกกระสอบช่วยคนประสบภัยพิบัติ อาจจะเกิดสึนามิรอบใหม่ ผู้นำฝ่ายค้าน รัฐบาลไปช่วยอาสาสมัครร่วมกัน มันจะเป็นประชาธิปไตยที่งดงามมาก คุณทำหน้าที่คุณเห็นต่างกันได้ แต่เรื่องมนุษยธรรม ไม่มีแบ่ง เราเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เราเป็นพี่น้องกัน อาตมาคิดว่าจะขอดันเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ และคิดว่าเครือข่ายจิตอาสาจะผลักดันเรื่องนี้จนเป็นการบรรจุในรัฐธรรมนูญ หรือถ้าไม่บรรจุก็เป็นสัญญาประชาคมที่ทำเป็นแบบอย่าง เขาจะบอกว่าเป็นสิทธิไม่ได้ ต้องเป็นหน้าที่เพราะเขาเป็นแบบอย่างของพลเมืองทั้งประเทศและเมื่อเขาทำตรง นี้ไม่ได้เป็นกฎหมาย แต่ถ้าเราทำเป็นตัวอย่าง เช่น ผู้ว่าวันเสาร์อาทิตย์เป็นอาสาสมัครกันทั้งครอบครัวเลยจะเกิดอะไรขึ้น นิสัยราชการไทย ผมว่าราชการเขาก็จะทำตามหมด เพราะฉะนั้นพื้นที่อาสาสมัครจะเกิดขึ้นได้ทันที และเราก็พบว่า ใครอาจจะบอกว่าสร้างภาพ ก็แล้วแต่ แต่เราอยากได้ภาพที่สวย มันจะส่งสัญญาณบอกให้กับคนข้างล่างลุกขึ้นมาทำ และเราพบว่างานอาสาสมัครเปลี่ยนคนได้ อย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าระดับเชิงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ถ้าผลักดันได้จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ จนเป็นหน้าที่ในการพัฒนานักการเมือง คือ เรื่องงานอาสาสมัครเป็น process พัฒนานักการเมือง หรือกลายเป็นเกณฑ์ในการคัดกรองคนที่จะเข้ามาเป็น ส.ส. ก็ตาม แต่เรื่องเกณฑ์คงมีการต่อสู้กันน่าดู เพราะเขาคงไม่อยากจะกันลูกหลานของตัวเองที่ไม่เคยทำอะไรเพื่อส่วนรวม เพราะฉะนั้นงานอาสาสมัครมันจะลดละความเห็นแก่ตัว แล้วมันสร้างจิตสำนึกความรักส่วนรวม รักชาติ ของเราไม่มีเลย ลูกเสือก็ผูกเงื่อน รด. เรียนแล้วก็เกลียดทหาร ไม่รักชาติ ประวัติศาสตร์ก็ไม่ค่อยจะมีเรียนแล้ว ก็เป็นปัญหาหมด แล้วจะเอาส่วนไหนมาทำให้เกิดอาสาสมัครลดละความเห็นแก่ตัว มันไม่มี งานอาสาสมัครจึงต้องเข้มแข็งขึ้นมาให้ได้ เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะไปสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตช่วงหนึ่ง ที่อาตมาทำก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่อย่างน้อยกฎหมายบังคับอยู่แล้วว่าทุกช่วง ชั้นต้องทำโครงงาน แต่ว่าถ้าเขาเลือกทำโครงงานขอให้เขาทำโครงงานคุณธรรม จะได้เป็นพื้นที่ในการทำงานอาสาสมัครของเด็ก จะได้เสี้ยวเวลาหนึ่งของช่วงชีวิตที่เติบโตเป็นเด็ก เยาวชน เป็นพลเมือง หรือถ้านักการเมืองขึ้นมาสุดท้ายจะกลายเป็นวาระแห่งชาติ จะปีหนึ่งหรือครึ่งปีก็แล้วแต่ซึ่งที่ผ่านมาก็มีมติ ครม. ให้ 5 วันเป็นอาสาสมัครได้โดยไม่ต้องเป็นวันลา แต่คนก็ไม่รู้ เพราะว่าไม่มีการทำให้เป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้นนักการเมืองหรือชนชั้นปกครองต้องเป็นแบบอย่าง และเราต้องทำเรื่องนี้ให้เข้มแข็งขึ้นมาเป็นมาตรฐานได้ นักการเมืองเข้ามาแล้วเว้นวรรคเขาไว้ ไม่ต้องไปแตะต้องเขา ตลกไหม แต่กลุ่มที่ด้อยพัฒนาที่สุดกลับมาอยู่ในจุดที่สูงที่สุด ปกครองคนทั้งประเทศ คิดอย่างไรก็ตลก คิดอย่างไรก็ไม่ฉลาด แต่ก็ไม่มีใครคิดได้
บทบาทของทางศาสนา พระหรือวัดอาจจะเป็นศูนย์กลางในการกระตุ้นเรื่องจิตอาสาได้ เช่น งานอย่างที่อาตมาทำ พระในพื้นที่ก็สามารถลุกขึ้นมาทำย่อยลงไปแล้วเราก็สร้างตัวแปร เช่น ให้พระเป็นที่ปรึกษาโครงงาน และวัดเป็นพื้นที่ของความดีอยู่แล้ว อย่างกระบวนการแผนที่ความดีที่ทำสำทับเข้ามาคือเวลามีใครทำอะไรเพื่อส่วนรวม เขาไปสำรวจมาและยกย่อง เราก็ขอให้จัดที่วัด ถ้ามีงานบุญงานกุศลจากต่างที่ให้มาจัดที่วัด และถือโอกาสทำนิทรรศการแผนที่ความดี และยกย่องไป ทำให้เกิดความปิติ อีกอย่างพอเราจัดที่วัด ทำให้ความรู้สึกว่าคำว่าบุญ กุศล เป็นแหล่งรวมความดี ถ้าวัดลุกขึ้นมาทำกระบวนการเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และวัดเป็นศูนย์กลางของการทำความดีของชุมชนได้ ไม่ใช่วัดต้องมารณรงค์ปลอดเหล้า นอกจากจะเสียศูนย์กลางของความดีแล้วยังเสี่ยงด้วย ต้องพลิกกลับมาทำเชิงรุกและกอบกู้ความรู้สึกของการทำความดีคืนกลับมาได้