โลกร้อน! ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงคนขายลูกชิ้นปิ้ง แต่เรารู้จักโลกร้อนมากน้อยแค่ไหน?ทำไมใครๆ ก็พูดถึงโลกร้อน? โลกร้อนเพราะอะไร หรือ เพราะ “โลกร้อนด้วยคน” จึงมีแต่คนพูดถึงมัน

หนึ่งในนั้นมีผู้หญิงคนนี้ ฐิตินันท์ ศรีสถิต หรือ พี่นุ่น หรือ คิ้วหนา นามปากกาจากหนังสือ “โลกร้อน ทุกสิ่งที่เราทำ เปลี่ยนแปลงโลกเสมอ” มารู้จักตัวตนคนเขียว เรื่องราวสิ่งแวดล้อม และสิ่งละพันอันละน้อยที่เราทำเองได้จากเธอคนนี้

รู้จักพี่นุ่น คิ้วหนา

“จริงๆ ชื่อคิ้วหนาเป็นชื่อตั้งเล่นๆ ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดสั้น (หัวเราะ) คิดว่ามันก็คงไม่มีใครอ่าน อายนะเนี่ย เปลี่ยนชื่อตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว” พี่นุ่นพูดถึงนามปากกาตัวเอง

แต่ก่อนหน้ามาเป็นคุณคิ้วหนา พี่นุ่นเคยเป็นนิสิตปริญญาตรี คณะคุรุศาสตร์ ภาคศิลปะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอจบมาก็ทำงานอิสระ ทำงานกราฟฟิค ถ่ายภาพต่างๆ แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลับรู้สึกเบื่อหน่าย จึงหาสิ่งท้าทายให้เรียนรู้ต่อไป สิ่งท้าท้ายน่าสนใจสำหรับพี่นุ่น คือ หลักสูตรปริญญาโท คณะสิ่งแวดล้อม ภาคเทคโนโลยีบริหารสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากหลวมตัวเรียนไป 4 ปีเต็ม เธอก็ได้รู้จักหลากหลายมุมของสิ่งแวดล้อม จากนั้นเธอหางานทำ แต่แทนที่จะทำงานกับบริษัทที่ใหญ่โตมั่นคง เธอตัดสินใจสมัครกองบรรณาธิการโลกสีเขียวแทน

“งานบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีให้ทำเยอะเลย แต่ทำแล้วได้อะไร ถ้าเราเอาความรู้ไปหลบเลี่ยงเขียน EIA ให้มันถูก แต่ใช้งานไม่ได้จริง เราก็รับตัวเองไม่ได้จริงๆ ถ้าต้องทำงานแบบนั้น พอดีตอนนั้นนิตยสาร “โลกสีเขียว” เปิดรับกองบรรณาธิการอยู่ เรารู้ว่านิตยสารเล่มนี้เขียนเรื่องจริง เลยสมัคร แต่ก็ไม่รับนะ (หัวเราะ) เพราะเราไม่มีงานเขียน มีแต่งานวิชาการ งานวิจัย ก็เลยขอมาทำฟรี อย่างน้อยมีงานเขียนเผื่อไปสมัครงานที่อื่น ทำไปสองเดือน มีคนออก เลยฟลุ๊คได้ทำแทน อยู่ยาวจนถึงทุกวันนี้ 5 ปีได้”

จนถึงทุกวันนี้พี่นุ่นว่านี่แหละคือทางที่เธอชอบ ได้ใช้ความรู้ถูกทาง ไม่หลอกตัวเองและคนอื่น

สื่อสารเรื่องเขียว

การสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมมีทั้งแง่บวก และ แง่ลบ แง่บวก คือ วิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กรณีศึกษาที่สัมฤทธิ์ผล ส่วนแง่ลบ คือ ผลกระทบมหาศาลที่เราได้ทำได้บนผืนโลก ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรม ระเบิดภูเขา กั้นแม่น้ำ ขุดเจาะทะเล ไปจนถึงการบริโภคอันเกินจำเป็น

สวนทางกับข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ที่ข่าวร้ายมักขายดี ข่าวสิ่งแวดล้อมไม่ว่าด้านไหนก็ค่อนข้างเงียบเหงา ที่เพิ่งมาฮอตฮิตก็คือเรื่อง “โลกร้อน”

สำหรับพี่นุ่น เธอคิดว่าถึงทุกวันนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องโลกร้อน แต่ยิ่งพูดกลับยิ่งเพี้ยน ไม่ว่าฝนตกฟ้าคะนอง แผ่นดินสะเทือน กลายเป็นเรื่องโลกร้อนไปเสียหมด โลกร้อนกลายเป็นแพะ โลกร้อนกลายเป็นโลกของการตลาด

“อย่างโฆษณากระเบื้องที่บอกว่าคนบ้าเพราะโลกร้อน ให้ติดกระเบื้องโลกเย็น คนก็หายบ้า หรือ ดับเบิ้ลเอ บอกว่าปลูกยูคาลิปตัสกู้วิกฤตโลกร้อน แต่สุดท้ายปลูกแล้วก็ตัดไม่ใช่เหรอ ตัดแล้วก็เอาไปแปรรูป สุดท้ายคาร์บอนก็มากอยู่ดี มันเป็นเล่ห์กลที่คนรู้ไม่ทัน พี่รู้สึกรับไม่ได้ มันเหมือนดูถูกคนดู”

สำหรับนักเขียนนักข่าวอย่างพี่นุ่น ตอนนี้การสื่อสารเชิงบวกอย่างเรื่องโลกร้อนกลายเป็นเรื่องรอง การสื่อสารเชิงลบ เรื่องที่ไม่มีใครพูดกัน ควรจะพูดกันให้บ่อยและให้ดัง

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง มาตราพุด คนกรุงเทพอาจจะไม่รู้สึกว่าเกี่ยว แต่จริงๆ มันเป็นปัญหาของประเทศ เป็นนโยบายที่เอาอุตสาหกรรมหนัก คนระยองไม่อยากได้ ในฐานะคนร่วมประเทศเราก็น่าจะดูแลกัน แต่ก็เข้าใจนะ เศษรฐกิจไม่ดี การเมืองเครียด แล้วใครจะมามีเวลามานั่งอ่านสิ่งแวดล้อมของคนอื่น แต่อย่างไรพี่ก็คิดยังต้องสื่อสารเรื่องนี้ อย่างน้อยก็เป็นบันทึกหลักฐานว่ามันเกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้มันผ่านไป”

จนถึงทุกวันนี้ พี่นุ่นพบว่าคนที่สนใจอ่านข้อมูลเหล่านี้ มี 2 กลุ่ม คือ นักศึกษา นักวิจัย นักข่าว และ คนที่ได้รับผลกระทบ ที่ถือว่านิตยสารโลกสีเขียวเป็นหลักฐานข้อมูลที่สามารถไปยืนยันความไม่ถูก ต้องกับอีกฝ่ายได้

“มีลุงคนหนึ่งเขาอยู่บางสะพาน เขาเคยขับรถผ่านทางที่คนหินกรูดบ่อนอกไปประท้วงเรื่องโรงถลุงเหล็ก เขาก็ด่าม็อบว่ามาทำให้รถติด แต่วันนี้โรงถลุงเหล็กมาถึงบ้านเขา เขาเข้าใจแล้ว ว่าทำไมคนบ่อนอกต้องออกมา เพราะวันนี้เขาก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวเหมือนกัน คือ ถ้าไม่โดนเองก็ไม่ตื่น ไม่รู้ว่ามันมีผลกระทบกับเราหมด”

ข่าวโลกแตก กับการใช้ชีวิตเขียวๆ

ผลพวงจากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม วิกฤติการณ์ภัยธรรมชาติเริ่มปรากฎมากขึ้น ถี่ขึ้น นักพยากรณ์หลายคนพากันทำนายทายทักว่าโลกใบนี้จะอยู่ได้อีกไม่นานนัก

สำหรับพี่นุ่นคิดว่า เรื่องวิกฤติโลกนั้นแล้วเป็นความเชื่อของแต่ละคน เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าข้อมูลไหนถูกผิด แต่หากเราเป็นผู้ที่ทำให้โลกนี้แย่ขึ้นจริง เราก็ต้องช่วยกันทำให้มันแย่น้อยลง ไม่ซ้ำเติมให้แย่ไปกว่าเดิม การช่วยกันใช้ชีวิตอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจช่วยให้วิกฤติโลกช้าลงได้เพียงเล็กน้อยก็ถือว่าคุ้มค่าไม่ใช่หรือ

“พี่เลือกที่จะเชื่อว่าลงมือทำดีกว่าปล่อยให้มันเจ๊งไปเร็วๆ อย่างน้อยก็ถือว่าซื้อเวลา ไม่ให้คนรุ่นหลังเขามาว่าเราได้”

วิถีชีวิตเขียวๆ

และเมื่อมาทำสื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างโลกสีเขียว ตัวเองพร่ำเขียนให้คนอื่นช่วยดูแลโลก ตัวพี่นุ่นเองก็ยิ่งต้องตั้งใจทำสิ่งที่ตัวเองเขียนให้ได้มากยิ่งขึ้น

“เราเขียนหนังสือโลกร้อน มันละอายนะ ถ้าเขียนบอกคนอื่นให้ทำแล้วคุณไม่ทำ แล้วใครเขาจะเชื่อ เหมือนพูดไม่เต็มปาก เราพยายามทำสิ่งที่เราเขียน ไม่ใช่ว่าหลังจากเขียนวันเดียว เดือนเดียวเราทำได้ทุกอย่าง เราค่อยๆ ขยับไป มีเทคนิค คือ ลองทำง่ายๆ ก่อน พอได้แล้ว ก็ทำที่ยากขึ้น ระยะเวลามากขึ้น ลดละความสะดวกสบายของเรา เช่น หันมาใช้รถ เรือ สาธารณะ, ปิดไฟ ปิดแอร์ ถอดปลั้กที่ใช้เสร็จแล้ว, หันมาใช้ถุงผ้าเวลาไปซื้อของ ไม่เอาถุงพลาสติก ใส่ถุงร้อนในถุงผ้าแทน แต่พอพักหลังก็ลองงดถุงร้อน หันมาใช้ปิ่นโต แรกๆ ก็ยาก แกะฝาปิดฝาก็ฝืด แต่พอทำไปก็ชิน แม่ค้าก็ไม่ว่าอะไร”

พี่นุ่นเล่าอย่างสนุกว่า ลองทำแล้วพบว่ามันไม่ยาก แต่กลับท้าทายอยากทำขึ้นไปเรื่อยๆ ล่าสุดพี่นุ่นลองไม่กินของนำเข้า 1 เดือน แล้วก็พบเรื่องน่าสนใจมากมาย เช่น ต้นปีของขวัญในกระเช้าทั้งหลายมีแต่ของนำเข้าสารพัด, ไอศกรีมที่เรากินดับร้อน ยี่ห้อไทยหลายอันนำเข้าจากจีน, ขนมขบเคี้ยวบนชั้นขายของมาจากหลากประเทศ ไม่ว่า อเมริกา อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ

“มันทำให้เราพบว่า FTA ทำให้มีแต่ของต่างประเทศเข้ามาเยอะมาก ของไทยหายากขึ้น การขนส่งมากขึ้น แม้ว่ารายได้เชิงเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ไม่เคยคิดรายจ่ายทางสิ่งแวดล้อม”

สัปดาห์ล่าสุดเมื่อไปงานแต่งงาน พี่นุ่นพบว่างานแต่งงานเป็นแหล่งรวมอาหารนำเช้าชั้นเลิศ ไม่ว่าจะเป็น ปลาแซลมอน เม็ดมะกอก ถั่วแอลมอน ซึ่งเป็นค่านิยมของเตรียมอาหารในการงานแต่งงานที่ต้องการความหรูหรา

“เป็นหนึ่งอันที่ทดลองทำแล้ว โอโห มันได้เห็นสิ่งที่เรามองข้ามเต็มไปหมดเลย พี่คิดว่าถ้าเราลองทำกันเยอะๆ ก็จะได้เห็นอะไรมากมาย ถึงมันจะไม่เห็นผลวันนี้ พรุ่งนี้ แต่ถ้าแต่ละคนทำเยอะๆ เป็นกิจวัตรมันก็ถือว่าไม่น้อยนะ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”

แถมท้ายว่า ถ้ายิ่งทำกับเพื่อนเป็นหมู่คณะ จะยิ่งง่าย ยิ่งสนุก ได้เตือนกันไปกันมา แถมคนรอบตัวเห็นเข้า อาจอยากลุกขึ้นมาทำบ้างเหมือนที่พี่นุ่นลองทำ

“พี่เป็นคนใช้ผ้าเช็ดหน้า ไม่ใช่กระดาษชิดชู่เลย เพราะแม่สอนมาว่ามันเป็นฝุ่น ยิ่งเช็ดก็ยิ่งคันจมูก แถมยังเป็นขยะอีก มีพี่คนหนึ่งมาเห็นเราใช้ เขาก็ทำบ้าง  เวลาอาหารกลางวัน กองบรรณาธิการเราจะซื้อมากินในออฟฟิศ ปกติซื้อส้มตำรถเข็น แล้วก็ใส่ถุงพลาสติก เดินขึ้นมาไม่ถึง 2 นาที ก็เทใส่จาน ทิ้ง ก็เริ่มคิดได้ว่า เอ๊ะ ทำไมไม่เอาจานมาใส่ล่ะ เขามาเสยอยู่ข้างหน้าบ้าน เอาจานไป นึกเมนูก็ถือขึ้นมา จากนั้นก็ทำแบบนั้นทุกวัน ฝ่ายอื่นเห็นก็เริ่มทำบ้าง เป็นเรื่องที่เราดีใจว่าคนใกล้ตัวเขาทำโดยที่ไม่ต้องบอก ทำๆ ไปด้วยกัน”

แต่อย่างไรพี่นุ่นเพิ่มเติมว่า ประชาชนคนทั่วไปช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมไม่พอ ภาคธุรกิจและระบบอุตสาหกรรมต้องช่วยกันด้วย เพราะพวกเขาถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้ทรัพยากรมากมายมหาศาล

สิ่งแวดล้อมคือ…

สิ่งแวดล้อมคืออะไร? สิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เหมือนที่เราเคยท่องหรือเปล่า? เมื่อลองถามพี่นุ่น ก็ได้คำตอบว่า

สิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ว่าเราจะทำอาชีพไหนเรามีส่วนทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง แต่ข่าวดีคือไม่ว่าจะทำอาชีพไหน เราก็สามารถคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้ เช่น พี่นุ่นทำนิตยสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังใช้กระดาษ ใช้คอมพิวเตอร์ แต่กองบรรณาธิการก็พยายามใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ประหยัดที่สุด, ผู้กำกับ Hollywood เขาตระหนักได้ว่า เขาใช้ทรัพยากรเยอะ เขาพยายามเลือกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมหลังเสร็จงาน บริจาคของทั้งหมดหลังกองถ่ายให้คนที่ขาดแคลน, คุณครูในโรงเรียนรุ่งอรุณ ตระหนักว่าทุกวันในโรงเรียนสร้างขยะเยอะมาก จึงคิดโครงการ “Zero waste” ขึ้นมาให้เด็กๆ และคุณครู ได้เรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะที่ทำได้จริง หรือ แม้แต่ทำธุรกิจการบิน เช่น บางกอกแอร์เวย์ ก็ยังทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของสนามบินได้

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อเราคิดถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าตัวเราเอง

“สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา แต่เป็นทุกอย่างที่เป็นเรา สร้างเราขึ้นมา เขาสัมพันธ์กับเรา เราสัมพันธ์กับเขา เป็นลักษณะของการเกื้อกูลกัน” พี่นุ่นพูดคำคมปิดท้าย