บทสัมภาษณ์ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

การเริ่มต้นเข้ามาทำงานอาสาสมัครได้อย่างไร และทำงานอาสาในองค์กรใด และมีลักษณะการทำงานอย่างไร
ผมมองเรื่องงานอาสาสมัครอยู่ในชีวิตคนอยู่แล้ว ใครที่ไม่เคยทำงานอาสาสมัครก็สุดยอดเห็นแก่ตัว ถ้าทำทุกอย่างเพื่อว่าฉันจะได้อะไร หรือจะจ่ายฉันเท่าไหร่ ทุกคนมีแง่มุม มีมิติ มีนัย ในเรื่องนี้อยู่แล้ว ตอบคำถามว่าผมเริ่มเมื่อไหร่ ผมก็เริ่มตั้งแต่ผมเป็นคนขึ้นมา ผมเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาก็ต้องทำอะไรบางอย่างให้กับครอบครัว ถ้าอาสาหมายถึงว่าเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อตัวเอง คือกว้างขึ้น ต่อครอบครัว ต่อชุมชนถิ่นฐาน หรือต่อองค์คณะที่เราอยู่ร่วมกัน สุดท้ายก็มากขึ้นๆ ก็แล้วแต่แต่ละคนว่าลุกออกมาทำแค่ไหน กี่มากน้อยในแต่ละช่วงชีวิต ผมว่าทุกคนมีอยู่แล้ว เป็นนักเรียนหลายคนก็มีบทบาทงานอาสาสมัครในโรงเรียน เป็นโน่น เป็นนั่น ทำนั่น ทำนี่ให้กับโรงเรียน ที่บ้านก็ทำนั่น ทำนี่ในครอบครัวเราก็มีพ่อแม่พี่น้อง บางคนก็ไม่ทำอะไรเลย ลูกบางคนก็ทำให้หมด พี่ทำให้น้อง ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นงานอาสาหมด และมีอยู่ เพียงแต่ว่าเราเห็นมันรึเปล่าว่าเป็นงานอาสา ต้องให้นิยามว่างานอาสาต้องไปทำให้กับคนไกลๆ เท่านั้น หรือทำให้กับผู้ที่ยากไร้จริงๆ เท่านั้น ผมว่าไม่ใช่ ผมว่าอยู่ที่นิยามความหมายของงานอาสา ปัญหาคือคนไม่มอง มันต้องทำให้ชัดออกมาว่านัยของคำว่าอาสามีกี่ระดับ มีกี่แง่มุม กี่แบบ เมื่อพูดเสร็จแล้วกลับมาดูว่า อ๋อ ทุกคนเคยทำงานอาสา และเมื่อพบว่าทุกคนเคยทำงานอาสา ถ้าเป็นอย่างนี้ทำอย่างไรให้เราทำงานอาสาให้มากขึ้นๆ หรือว่าสมดุลไปได้กับการดูแลส่วนตัว ถ้าถามว่าผมมีบทบาทอย่างมากในเรื่องของงานอาสาอย่างไร ผมว่าตั้งแต่เป็นนักเรียน ที่โรงเรียนผมมีงานกิจกรรมเป็นอย่างมาก วชิราวุธวิทยาลัย ที่กทม. เขาจะมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมาทำ ตั้งชมรมและทำกิจกรรม มีงานเสด็จพระราชดำเนินประจำปีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้คำว่าอาสา เพราะกลางคืนไม่หลับไม่นอนมาช่วยเตรียมงานกันหนึ่งเดือน หนึ่งเดือนกำลังจะสอบไล่ ก็อาสามาเป็นฝ่ายจัดงานทั้งคืนจนถึงสี่ห้าทุ่ม เตรียมงานศิลปะ เตรียมการจัดแสดงสารพัด นั่นคืองานอาสาสมัยนักเรียน เมื่อเข้ามาสู่มหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยมีชมรมส่งเสริมให้คนทำกิจกรรม กิจกรรมอาสาสมัครในมหาวิทยาลัยเยอะมาก ในมหาวิทยาลัยมีชมรมประมาณ 2 แบบ
1. กิจกรรมสำหรับเรียนรู้เสริมสร้างทักษะส่วนตัว หาเพื่อน ชมรมพวกนี้ผมว่ามีนัยของงานอาสาสมัครน้อย เช่น ชมรมทัศนาจร ชมรมทัศนศึกษา หรือฝึกโน่น ฝึกนี่ นี่เป็นเรื่องของเสริมสร้างทักษะส่วนตัว นี่มีนัยของอาสาสมัครน้อย ถ้าเข้าชมรมเพื่อที่จะเอายิ่งไม่ใช่อาสาสมัคร แต่ถ้าใครเข้าไปเพื่อจะช่วยเพื่อน นี่มีนัยของอาสาสมัคร ถ้าชมรมนั้นขยับไปบอกว่าฝึกทักษะนี้เพื่อเอาทักษะไปช่วยสังคม อันนี้จะมีนัยของอาสาสมัครมาก
2. ชมรมแบบอาสาสมัครจริงๆ เช่น อาสาพัฒนา ชมรมอาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชมรมบำเพ็ญประโยชน์ พวกนี้อาสาสมัครเกือบ 100% ผมเองก็อยู่หมดครับทั้งสองแบบ แต่ก็สนุกและมีความสุขต่อการทำเพื่อคนอื่น

พวกเรานักศึกษาแพทย์ เราถูกปลูกฝัง ทางด้านของแพทย์ต้องห่วงความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนอื่นอยู่แล้ว สมเด็จพระราชบิดา เป็นพระบิดา พระราชบิดามีวรรคทองของท่านที่ผมเชื่อว่าแวดวงสาธารณสุขทุกคนจะระลึกไว้ คือ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง และทุกคนก็จะจำ แต่จะจำไว้แล้วเก็บไว้ลึกแค่ไหน หรือว่าลึกมากจนหายไปเลย หรือลึกและจำ และทบทวนตลอดเวลา ผมคิดว่าสำหรับผมเองผ่านชีวิตนักศึกษาประมาณนี้ พอดีผมเป็นนักศึกษาในช่วง ผมเข้าปี 18 จบปี 24 ก็เป็นช่วงที่นักศึกษาสนใจเรื่องงานสังคม ผมก็เรียนรู้และสะสมประสบการณ์งานอาสาสมัครในช่วงเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย จบมาพวกเราเป็นแพทย์ เราก็ยอมรับว่าการแพทย์ทำโดยลำพังไม่ได้ คือ ต้องให้ชุมชน ผู้คนที่เป็นเจ้าของสุขภาพดูแลตัวเอง ปกป้องสุขภาพตัวเอง สร้างสุขภาพตัวเอง แม้กระทั่งการรักษาหมอจะรักษาคนเดียวไม่ได้ ถ้าเจ้าตัวเขาไม่รักษาด้วย หมอให้ยาแล้วเขาไม่กินยา ผมเป็นหมอโรคปอดต้องกินยาตั้งปีครึ่ง แต่ก่อนไม่ใช่เดี๋ยวนี้ กินยาปีครึ่งถ้าเจ้าตัวไม่กินก็ไม่หาย ญาติมิตรไม่ดูแลเจ้าตัวให้กินก็ไม่หาย ถ้าเจ้าตัวไม่ปกป้องโรคก็ขยาย ฉะนั้นในแวดวงสุขภาพเราชัดเจนว่าเรื่องของอาสาสมัครสำคัญ เมื่อผมออกมาทำอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานที่เราเรียก อสม. เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนงานสุขภาพ ผมก็นัวเนียอยู่กับงานอาสาสมัคร ผมเป็นหมอมา 25 ปี ทันทีที่เป็นหมอ ทุกคนก็ทำหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ดำรงชีพ ขณะเดียวกันเราก็อยู่ในสังคม อย่างผมเองเราก็ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่จบ ไม่ได้บอกว่าเป็นหมอ แล้วทำแต่หน้าที่หมอ แล้วก็หาตังค์ ดูแลแต่คอรบครัวพอแล้ว ดูแลคนไข้พอแล้ว ผมก็รวมกลุ่มกันที่นครศรีธรรมราชกับเพื่อนๆ ทำร้านหนังสือเพื่อสังคม เราเรียกว่าร้านนาครบวรรัตน์ เป็นร้านหนังสือที่มีหนังสือให้คนอ่าน ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมบริการทางสังคม เพื่อเสริมสร้างสติปัญญา เราเรียกว่าแหล่งมั่วสุมทางปัญญา พวกผมก็ทำงานอาสา ก็เสือก ไม่ใช่งาน ไม่ใช่หน้าที่สักหน่อย ที่นครฯ เขามีเรื่องอะไร ในบ้านในเมืองก็หมอช่วยหน่อย หมอทำหน่อย ผมก็ทำทุกเรื่อง อาสาจนเป็นไปหมด ตั้งกลุ่มตั้งชมรมสารพัด เช่น ชมรมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมรมแทพย์ทันตแพทย์จังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งถูกขอร้องให้ไปเป็นรองประธานหอการค้า เป็นนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งผมไม่ได้มีธุรกิจตรงไปตรงมา ซึ่งผมไม่ได้เข้าไปในนั้นเพื่อไปหาประโยชน์ แต่ผมถูกขอร้องให้ช่วยทำให้หน่อย ทำให้บ้านเมือง เพราะฉะนั้นมิติอาสาสมัครมโหฬาร จนสุดท้ายเข้าใจว่าที่จิตอาสารู้จักผม และคิดว่าผมมีส่วนมาก ก็คงจะช่วงหลัง คือ  ผมก็เข้าวัดเข้าวา ท่านพุทธทาสย้ำไว้ว่าชีวิตมนุษย์เป้าหมายชีวิตไม่ต้องพูดศีลมากมาย ถือศีลข้อเดียวคือ อยู่ให้เย็น และให้เป็นประโยชน์ ก็ตรงกัน เรามีคนจำนวนมากอาสาเพื่ออยากจะทำประโยชน์แต่ทุกข์ ท่านมีจิตใจอาสาแต่เป็นทุกข์ อยากทำดีแล้วทำไมไม่ได้ดี ฉันทำดีแล้วคนอื่นว่าฉัน จริงๆ แล้วดุล เช่น สมเด็จพระราชบิดาอย่างที่ผมบอกว่า ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง บางคนอาจจะรู้สึกว่าสุดโต่ง กัดกินก้อนเกลือ ช่วยเหลือคนอื่นแต่ฉันกัดกินก้อนเกลือลูกเมียลำบาก ครอบครัวอัตคัดขัดสนมัวแต่ช่วยมหาชนเหมือนประเวสสันดร ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านย้ำกับพวกเราว่าวิธีวัดว่าเรามีชีวิตที่ดีหรือไม่ หรือศีลเบื้องต้นของมนุษย์เบื้องต้นมีแค่นี้ มีศีลคือ ดูแลชีวิตตัวเองให้เย็น แต่เย็นโดยลำพังไม่ได้ต้องเป็นประโยชน์ด้วย ท่านว่าอยู่เย็นและเป็นประโยชน์ เย็นกาย เย็นใจ เย็นจิต เย็นสติปัญญา ผมก็เริ่มเข้าสู่งานวัด ผมทำงานมหาวิทยาลัยจริงๆ ผมพยายามส่งเสริมงานอาสาสมัคร ผมเป็นรองอธิการบดีที่วลัยลัยลักษณ์ ส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานอาสาสมัครอย่างกว้างขวาง สุดท้ายผมออกมาผมก็มายุ่งเรื่องพัฒนาชุมชนไปสู่ภาคใต้ ถามว่าเป็นอาสาไหมเป็นอาสา แต่เป็น project นิดหน่อย คือ สสส. เห็นว่าผมว่าง ไม่มีงานทำแล้ว ผมจะเข้าวัด เขาบอกว่าเดี๋ยวก่อนอย่าเพิ่งเข้าวัด ให้มาทำเรื่องสุขภาวะของชุมชนคนภาคใต้ ก็รวมเพื่อนๆ ตั้งกลุ่มทำเรื่องการพัฒนาชุมชนเป็นสุขที่ภาคใต้ ก็ลงไปทำทั่วทั้งภาค ชวนคนมีใจเพื่อสังคมเพื่อสาธารณะมาช่วยกันทดลองปฏิบัติการสร้างความสุขใส่ ชุมชนทั่วทั้งภาคใต้ประมาณ 100 กว่าชุมชน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ทำ สุดท้ายก็ทำอยู่พอมันไปได้พอสมควร ก็ให้น้องๆ เขาทำต่อ พอดีเกิดสึนามิด้วย พอเกิดสึนามิในภาคใต้เราจะเฉยอยู่ได้อย่างไร ความจริงอยู่ภาคใต้ ผมเกิดนครฯ พอน้ำท่วมใหญ่ที่คีรีวงศ์ กระทูน ปี 31 ผมก็ตั้งทีมไปช่วยกันอย่างจริงจัง ชวนคนกรุงเทพฯ ไปช่วย ช่วยในพื้นที่ที่ประสบภัย เราก็พอมีบทเรียนในคราวนั้น พอเกิดสึนามิคือเรื่องใหญ่มาก ก็เลยคนใต้ด้วยกัน มัวแต่สร้างสุข แต่เพื่อนทุกข์มโหฬาร จะช่วยอย่างไร ก็เลยรวมกลุ่มกันไปช่วย ก็เกิดเป็นอีกชุดกิจกรรมใหญ่มากทำกัน 3 ปี ที่เราเรียกว่า Save Andaman Network ผมก็ถูกขอให้เป็นประธาน จัดกระบวนการอาสาสมัครของคนหลากหลายกลุ่ม ngo ชาวบ้านด้วยกัน ประชาสังคมในภาคใต้ และทั่วทั้งประเทศ

เกี่ยวกับสุขภาวะชุมชนในภาคใต้ ดำเนินงานอย่างไร
มีหลายแบบ เราพยายามชวนให้เขาคิดว่า ความสุขมีกี่มิติ อะไรบ้าง และแต่ละพื้นที่คิดกันมาเอง และมีคนไปช่วย ตกลงความสุขของพื้นที่คุณคืออะไร ทุกข์ของพื้นที่คืออะไร มีนิยามความหมายอย่างไร มีปฏิบัติการลดทุกข์สร้างสุขอย่างไร ก็ให้แต่ละพื้นที่คิดมาเป็นชุดกิจกรรมและทำกันอย่างจริงจัง ซึ่งออกมาหลายแบบ บางแห่งเป็นแผนชุมชน บางแห่งทำเรื่องรวมกลุ่มอนุรักษ์ บางกลุ่มเรื่องพัฒนาทรัพยากร บางกลุ่มทำเรื่องผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ พี่น้องมุสลิมก็ทำเรื่องศรัทธากับพระเจ้า ก็ว่ากันไป 100 กว่าชุมชน ก็ร้อยแบบ ในนิยามความหมายที่เขาเห็น บางทีก็ไม่ทันเห็น หรือเห็นอีกอย่างพอทำไปก็เป็นอีกอย่าง ก็ได้เรียนรู้

พอเกิดสึนามิก็เกิด Save Andaman Network ซึ่งตอนแรกเราก็รวมกันในพื้นที่ ตอนหลังเข้าในส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจจำนวนมาก ก็มาร่วมสาสมัคร เช่น คนมีเงินให้เงิน คนมีกำลังให้กำลัง คนมีโน่นมีนี่เอามาให้ และต่างประเทศมาสมทบเป็นขบวนใหญ่ ผมคิดว่างาน Save Andaman Network เป็นตัวพิสูจน์ว่าสังคมไทยมีจิตอาสากันอยู่เต็มไปหมดแทบทุกคนเลย แต่มีจุดอ่อนนิดหน่อย คือเป็นเรื่องที่เขารู้สึก touch เขากระทบความรู้สึกแล้วเขาอยากช่วย แต่เรื่องพื้นๆ อาจจะไม่รู้สึก อันนั้นมันยิ่งใหญ่มาก คนตายกัน ทุกข์ร้อนกันแสนสาหัส คนอยากจะช่วย ก็เลยกระตุ้นต่อมอาสามันพลุ่งพล่าน คนออกมาช่วยเฉพาะ Save Andaman เอง มีเงินเฉพาะตัวเงินไม่นับเรื่องอื่น ตัวเงินที่เข้ามาสู่ Save Andaman ทั้งจากภาคธุรกิจ ประชาชน ภาคสังคมไทย หรือต่างประเทศ รวมแล้วประมาณ 150 กว่าล้านบาท เข้าไปยังกลุ่มที่ยังเพิ่งก่อตั้งใหม่ กลุ่มเล็กๆ ที่ก่อตั้งใหม่ ขณะเดียวกันเราสามารถทำงานให้ชาวบ้านร้อยกว่าหมู่บ้านได้มีอาชีพกลับมา มีเรือเพื่อประกอบอาชีพ มีกลุ่มก้อนในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนอย่างจริงจัง ทำให้ชาวประมงมีเรือกลับมา ตอนสึนามิเรือพังไปประมาณ 3,000 ลำ เฉพาะ Save Andaman ได้จัดกระบวนให้ชาวบ้านซ่อมสร้างเรือกันเอง ไม่ใช่ซื้อเรือให้ เราพยายามให้เขามีส่วนร่วม เฉพาะใน Save Andaman เองเรือคืนให้ชาวบ้าน 1,500 กว่าลำ ครึ่งหนึ่งของเรือที่สูญหาย เพราะฉะนั้นผมคิดว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของงานอาสาสมัครที่พิสูจน์ ผมก็มีส่วนร่วมในงานอาสาสมัครอีกชิ้นหนึ่งในกรณีของสึนามิคือ วันแรกๆ ที่เข้าไป ทีมหมอพรทิพย์ ทีมตำรวจ หรือทีมไหนๆ ก็บอกว่า ปัญหาใหญ่คือ การหาญาติมิตร และค้นหาศพ ระบบฐานข้อมูลในการสืบค้นมันล้ม ผมก็เลยปรึกษากันว่าเขาต้องการอะไร เขาต้องการทีมอาสาสมัครเรื่องนี้ ผมก็เลยตัดสินใจประสานมาที่ สสส. ว่าต้องการตั้งหน่วยอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือสึนามิ สสส. เขาก็ประสานมูลนิธิกระจกเงา และลงไปร่วมก่อตั้ง เข้าใจว่าไป ผมก็เป็นส่วนหนึ่งในการริเริ่มและก่อตั้ง tsunami volunteer และร่วมประคับประคอง สนับสนุนให้งานนั้นเกิดระบบอยู่พอเข้าที่เข้าทางแล้ว มูลนิธิกระจกเงาเขาเดินได้เองผมก็วางมือ กลับไปทำงานในชุมชนเรื่อง Save Andaman ก็ได้เห็นภาพของงานอาสาสมัครขนาดใหญ่ ตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงส่วนกลางและนานาชาติของงานอาสาสมัคร ผมเห็นว่าสึนามินี่เป็นปฏิบัติการของอาสาสมัครครั้งใหญ่ในสังคมไทย หรือของโลกด้วยซ้ำไป ผมก็เข้าไปร่วมในสองอัน ตั้งแต่ร่วมก่อตั้ง และร่วมริเริ่ม ซึ่งถูกขอให้เป็นประธาน

มีมุมมองต่องานอาสาสมัครของไทยในปัจจุบันนี้อย่างไรบ้าง
ข้อที่ 1 ผมมองว่ามนุษย์ทุกคนมีจิตใจสำนึกอาสาเพื่อส่วนร่วมอยู่แล้ว และหลากหลายระดับมาก แต่โดยธรรมชาติ ผมสัมผัสแล้วพบว่าคนอาสามีประมาณ 4 categories 1. พวกที่มีจิตใจอาสาจริงๆ คือมีอะไรทุกข์ร้อนฉันอยากช่วยโดยไม่มีเงื่อนไข ทุกอย่าง อยากช่วย พร้อมที่จะช่วย ได้ช่วยแล้วรู้สึกพอใจแล้ว อันนั้นมีอยู่ไม่น้อยในไทย 2. กลุ่มที่อยากช่วยเฉพาะที่อยากจะช่วย เฉพาะเรื่องนี้ เรื่องอื่นฉันอาจจะไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ หรือฉันไม่ถนัด ถ้าจะช่วยเฉพาะเรื่องที่ฉันชอบ ที่ฉันรู้สึกว่าทำแล้วจิตใจดี เป็นกุศล ได้บุญ ชอบทำบุญแบบนี้ ขณะเดียวกันที่ฉันถนัด ที่ฉันทำเป็น ไอ้โน่นทำไม่เป็น นี่คือกลุ่มที่ 2 ก็มีความหมาย 3. กลุ่มที่อยากช่วยแล้วรู้สึกว่าตัวเองได้อะไรด้วย ฉันได้ฝึกทักษะด้วย ฉันได้ good view ได้เพื่อน ได้รับการยอมรับ ถามว่าดีไหม ก็ดี ก็ยังดีกว่าพวกที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวไม่เอาเรื่องนี้เลย 4. กลุ่มที่น่าเป็นห่วงสักนิดหนึ่ง กลุ่มที่เลือกอาสาเฉพาะที่ตัวเองอาสาและมุ่งหมายทำเพื่อ present ตัวเอง ทำแล้วต้องได้หน้า ได้เกียรติ ได้ credit ได้เกียรติบัตรเพื่อไปสะสม port folio เราก็มีอยู่ ถามว่าทั้งสี่แบบมีส่วนดีไหม ก็ยังมีส่วนดีดีกว่าคนที่ไม่ทำอะไรเลย ผมมองว่างานอาสามีประมาณ 4 แบบ

การจับตัวของเขา ผมว่ามีหยาบๆ ประมาณ 3 แบบ 1. แบบปัจเจก ต่างคนต่างทำ ทำเป็นคน หรือกลุ่มของฉันเท่านั้น 2. แบบเป็นองค์กร อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เช่น ประชาร่วมใจ ร่วมกตัญญู อาสากาชาด พวกนี้คือรวมตัวกันว่างานอาสาฉันจะรวมตัวกันเป็นองค์อคณะ เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นระบบ 3. ตรงกลางจะเป็นพวกผสมผสาน กึ่งๆ รวมตัว แข็งตัว อ่อนตัว นี่คือการจัดการขององค์กรอาสาสมัคร ซึ่งทั้ง 3 แบบก็จะมี 4 แบบของงานอาสาตามที่ว่าไว้ พอเราพูดถึงสามแบบนี้ เราต้องพูดถึงกลุ่มที่ไม่ได้รวมตัวกันเป็นงานอาสาจริงๆ เราต้องอย่ารู้สึกว่านี่เป็นงานอาสา หรือเรื่องของคนอาสา ถ้าเรายอมรับว่ามนุษย์ว่าทุกคนมีจิตใจอาสาตามที่ผมพูดใน 4 อันแรก จริงๆ แล้วงานอาสามันแทรกอยู่ในทุกที่ จะทำให้คนออกมาทำงานอาสาได้หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะแบบมาเฉพาะตัว รวมกลุ่มกันมา ตั้งตัวกันเป็นกลุ่มก้อนหรือองค์กรมา หรืออันที่สามผมมองว่าสำคัญ จากสึนามิ หรืออะไรที่ผมเห็น คือ เอาองค์กรที่ตนเองอยู่ออกมา หรือชักนำงานอาสานั้นเข้าสู่องค์กร เช่น ผมอยู่ สสส. เกิดอะไรขึ้น ถ้าบอกว่าทำงานอาสาต้องตัวใครตัวมันหรือบางคนต้องรวมเป็นองค์กรอาสา ผมสามารถมาชวนใน สสส. ถ้าหากว่าชวนเพื่อนในระดับหนึ่ง บอก สสส. เลย ว่าเรายกองค์กรไปอาสาได้ไหม เช่น เครือซีเมนต์ไทย เกิดสึนามิ เขาบอกเขาอยากช่วย เขาลงไปดู ทำโน่น ทำนี่ ไปๆ มาๆ เครือซีเมนต์ไทยเกือบทั้งบริษัท ไปในนามเครือซีเมนต์ไทย เอาทรัพยากรไปช่วย ไปพบว่าตรงนั้นขาดเอาทรัพยากรไปให้ ซีเมนต์ไทยคนเดียวอาจจะมีสักประมาณเท่านี้ ซีเมนต์ไทยไปชวนมิชลิน ไปชวนบริษัทโน่นบริษัทนี่ซึ่งเป็นมิตรกัน ไปเห็นคนทำงานอาสาอยู่ลำบากมาก เขารู้จักกับโตโยต้า ไปบอกโตโยต้าเอารถไปให้ ไปพบว่าชาวบ้านเสี่ยงภัยมาก ออกประมง ไม่มีระบบสัญญาณเตือนภัย ไปบอกโตโยต้า โตโยต้าบอกว่าไปตั้งหอสัญญาณเตือนภัย ซื้อระบบวิทยุมดดำมดแดงให้ เพราะฉะนั้นผมมองว่างานอาสาที่จะมีพลังมากจริงๆ แล้วอยู่ที่เรื่องของการเกาะติดของกลุ่มคนอาสา และองค์กรอาสา แต่ต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ตรงนั้น ต้องเปิดกว้างสู่คนจำนวนมากซึ่งอยากอาสา เชื่อมเขาให้ได้ และ mobilize เขาออกมาร่วม อย่างกรณีสึนามิที่ Save Andaman ทำ เรา mobilize กลุ่มบุคคล เงินที่มีเป็นร้อยๆ ล้านเพราะจากการเปิดกว้าง และเชื่อมต่อ คนโน้นก็มา คนนี้ก็มา ทำกันสารพัด

ยกตัวอย่างอีกงานอาสาหนึ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ผมกำลังทำงานอาสาชิ้นสำคัญ จากประสบการณ์ที่มีอยู่ คือ ทำหอจดหมายเหตุพุทธทาส เรากำลังจะสร้างสวนโมกข์ที่กรุงเทพฯ เดิมงานวัดเป็นงานอาสา ชุมชนเข้าไปช่วยกันทำ เราก็อยากจะให้หอจดหมายนี่เป็นงานอาสาสมัครเหมือนกัน เป็นของสาธารณะ สาธารณะเห็นประโยชน์ก็มาช่วยกัน ผมขอยกตัวอย่างหอจดหมายเหตุพุทธทาสที่กำลังจะทำกัน บอกว่าจะสร้างไม่รู้จะสร้างที่ไหน หาที่ในกรุงเทพฯ กทม. รู้ข่าว บอกไปใช้ที่ กทม. สิ ผมว่าอาสา อาสามากด้วยไปใช้ที่ กทม. เราบอกเอา กทม. บอกตายแล้วที่นี้ถวายพระเจ้าอยู่หัวไปแล้ว ต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต พระเจ้าอยู่หัวอนุญาต ก็มีนัย อ๋อ มีประโยชน์ ให้ พอได้ที่ก็ออกแบบ ก็มีกลุ่มบริษัทภาคธุรกิจที่เป็นนักออกแบบ เขาบอกว่าเขาขออาสาออกแบบให้ไม่คิดตังค์ พวกเราบอกว่าถ้ามีค่าใช้จ่ายบางอย่างคิดก็ได้ ค่ากระดาษ เขาบอกว่าไม่เอา ขอทำให้ เขาขออาสา เอาทักษะของเขา อันนี้สำคัญ เอาทักษะของเขามาออกแบบ นี่คือกลุ่ม plan พอวิศวกรโครงสร้างคำนวณ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะเฉพาะ ปรากฏว่าบริษัทของอาจารย์ อรุณ ไชยเสรี ซึ่งสร้างตึกช้าง บอกว่า บริษัทช่วยทำให้ไม่คิดตังค์ สุดท้ายมีคนรู้ข่าวว่าการตกแต่งภายในจะทำอย่างไร มีบริษัทบอกว่าผมออกแบบภายในเป็นผมทำให้ พอจะก่อสร้างก็มีอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า ฉันขอบริหารงานก่อสร้างให้โดยไม่คิดตังค์ บริษัทที่รับเหมาก่อสร้างก็มาประกวดราคา ได้ราคาถูกที่สุดแล้วบอกจะทำให้ดีที่สุด ขณะเดียวกันขอทำบุญด้วยให้ตังค์มาอีก 10 ล้าน ก็มากันทุกหน่วย เมื่อวันที่ 13 ที่จัดงานเปิดประตูสวนโมกข์ พอบอกว่าจะจัดงานก็มี 4 ฝ่าย เครือซีเมนต์ไทยช่วยเรื่องการจัดการเรื่องสื่อสารมวลชนให้ เครือมติชนมาช่วยจัดการเรื่องเผยแพร่ข่าวสารให้ เครืออัมรินทร์ขาดอะไรบ้างเอาอาหารว่างมาเลี้ยง เอาเงินมาให้และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ เครือแปลนมาช่วยจัดบรรยากาศให้ ไทยพาณิชย์บอกให้มาใช้ที่ของฉัน มีห้องประชุมอยู่แล้ว เราช่วยดูแลสถานที่และการรับรองให้ นี่ก็เป็นเรื่องของงานอาสา NECTEC เรากำลังทำเรื่องระบบฐานข้อมูลที่เป็น IT digital NECTEC ก็บอกว่าทำให้ พัฒนา software ให้ เป็นที่ปรึกษาให้ คนเล็กคนน้อยขอทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น เราก็พยายามอยากให้เป็นงานอาสา

จริงๆ แล้วพิสูจน์ว่า อาสาเป็นไปได้โดยปัจเจก เป็นไปได้โดยกลุ่มคนที่รวมตัวกันเป็นกิจจะลักษณะของงานอาสา ขณะเดียวกันที่สำคัญที่สุด ปล่อยให้ทำโดยปัจเจกไม่ได้ ต้องมารวมกลุ่มเป็นการเฉพาะเพื่องานอาสา เราต้องยอมรับความจริงว่ามนุษย์ทุกวันนี้ยุ่งกับเรื่องชีวิตส่วนตัว เรื่องทำมาหาเลี้ยง ต้องแทรกให้งานอาสาแทรกไปอยู่ในเนื้องานของเขา
เราได้อาสาสมัครจากอีกกลุ่มหนึ่ง มาแปลกมากอันนี้มาจากต่างประเทศ ทุกคนอาจจะไม่คิดว่าบริษัทต่างประเทศ แม้จะอยู่ในประเทศไทย เราบอกเราจะทำมูลนิธิมีบริษัท top five ของการเงินและบัญชีของโลก บริษัทที่ปรึกษาระดับนำของโลก 1 ใน 5 ของโลก ถ้างั้นขอด้วย ขออาสาด้วย เช่น earth and young เป็น 1 ใน 5 ของบริษัทด้านบัญชีของโลก ขออาสาพัฒนาระบบบัญชี และเป็นที่ปรึกษาเรื่องบัญชีให้ บริษัท KPMG ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านตรวจสอบบัญชี ขออาสาเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้ บริษัท เบเกอร์ แมคแคนซี ซึ่งเป็นบริษัทสำคัญทางด้านกฎหมายในโลก จะเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้ ผมคิดว่าเราจะพบว่างานอาสาสมัครไม่มีขอบเขต และเติมชีวิตชีวาให้กับคนและทำให้สิ่งที่เรานึกไม่ถึงเกิดขึ้น และทำเรื่องได้เยอะมาก

มิติของงานอาสา ถ้าเราจะบ่มเพาะให้งานอาสาเกิดขึ้น ถ้าเข้าใจ 2-3 กลุ่มที่ผมบอกแล้ว เช่นนั้นถ้าจะพัฒนางานอาสา หรือจิตอาสา ผมคิดว่า
1. ต้องส่งเสริมให้มนุษย์ทุกคนได้มีพื้นที่ มีโอกาสปฏิบัติการอาสาสมัครของตัวเขา แล้วงานอาสาสมัครของตัวเขาที่ดีที่สุดไม่ต้องไปไกล เขาทำอาสาสมัครได้ทุกเวลา ที่บ้าน ที่ทำงาน ถ้ามนุษย์ทุกคนบอกว่าธุระไม่ใช่ ไม่ใช่หน้าที่ หน้าที่เธอไม่ใช่หน้าที่ฉัน เฉพาะบทบาทของฉัน อีกบทบาทหนึ่ง job description ของคุณ คุณทำฉันไม่ทำ ฉันไม่ช่วย บทบาทหน้าที่หลักทุกคนต้องมี แต่ในขณะเดียวกันต้องช่วยกัน นี่เป็นหน่อสำคัญ หน่ออาสาที่ค่อยๆ เกิดและเติบโต ส่งเสริมให้จิตอาสา หรือกิจกรรมอาสาเบิกบาน อยู่ใกล้ๆ ตัว ใกล้ๆ ชีวิตเขา ผมเจอ 3 ที่ 1. ที่บ้าน 2. ที่ทำงาน 3. ที่ชุมชนท้องถิ่นที่คุณอยู่ อยู่บ้านจัดสรร อยู่หมู่บ้าน อยู่ละแวกนี้ ถนนซอยนี้ ไม่ใช่กวาดหญ้าแล้วทิ้งข้างถนน
2. รวมกันเป็นกลุ่มพอสมควรในการทำงานอาสา และเริ่มรวมกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านสัก 2-3 คนพี่น้อง ในที่ทำงาน 4-5 คน ร่วมแผนก ในชุมชนก็ 4-5 บ้านในละแวกบ้าน ก็ทำกัน approach ที่สองคือในองค์กร ทุกองค์กรทุกวันนี้มี HR Human Resource การพัฒนา Human Resources ไม่ใช่เฉพาะการเสริมทักษะ ต้องพัฒนาจิตใจด้วย ถ้าจิตใจเขาไปถึงขั้น องค์กรได้ประโยชน์มโหฬาร เช่น กรณีสึนามิ มีองค์กรองค์กรหนึ่งได้ชื่อเสียงเหลือเชื่อ คือ การบินไทย มีชมรานักดำน้ำ เพราะนักบิน สจ๊วต แอร์ ชอบดำน้ำ แล้วก็ปัญหาเรื่องปะการัง และขยะในน้ำเยอะมาก สุดท้ายกลุ่มนี้อาสาไปทำ รวมทั้งนักดำน้ำจำนวนหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นไปดำน้ำหาศพ ไปกู้ศพ อันที่สองไปเก็บกู้ขยะ ก็กลายเป็นผลงานที่คนชื่นชมมาก การบินไทยได้หน้า องค์กรได้หน้า หลายๆ องค์กรได้ good view ได้แง่มุมบวกจากสิ่งที่คาดไม่ถึง มาจากใจอาสาของคนจำนวนน้อยเท่านั้นเอง กรณีสึนามิ ถามว่าประเทศไทยได้รับความชื่นชมอะไรมากที่สุด น้ำใจของคนไทย ใจอาสาของคนไทย ผมว่าอันนี้มันให้ได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้ องค์กรภาคธุรกิจเขาสนใจเรื่อง cooperate social responsibility (CSR) ยืนยันว่าเขามีใจ จะทำอย่างไรให้เจอกัน

ถ้าคนในองค์เป็นแบบที่ 4 หรือมีคนในองค์กรเป็นแบบที่ 2 หรือ 1 ภาพลักษณ์องค์กรหรือในองค์กรจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่องค์กรไม่มีทั้งแบบที่ 1-4 ไม่มีสักแบบเลย มีแต่แบบที่ทุกคนสนใจแต่ประโยชน์ส่วนตัว พลังในองค์กรก็ไม่มี ภาพลักษณ์ก็ยาก

การสนับสนุนและพัฒนาอาสาสมัครมีแนวทางอย่างไรได้บ้าง
ผมว่าตามธรรมชาติแล้ว ผมว่ามี 2 เรื่อง
1. ทำอย่างไรให้จิตอาสา หรือสำนึกอาสาซึ่งมนุษย์อยู่แล้วได้งอกงามเติบโต และขยาย เช่น คุณมีน้อยก็มีมากขึ้น ถ้าไม่มีก็ได้มี และขยายเป็นบรรยากาศที่แผ่ซ่านไปทั่ว อันนี้สำคัญ มนุษย์จะมีจิตใจอย่างนี้ได้ และหน่อนี้จะเกิดขึ้นได้ คนอาจจะต้องมองเห็นชีวิต มองเห็นความหมายของความสุขของชีวิต ถ้าคนมองเห็นความหมายของความสุขที่แท้ และเข้าใจถึงความสุขที่แท้ จิตอาสาจะออกมาเอง เช่น ถ้าคนมองชีวิตอยู่แบบแคบๆ คือดูแต่เรื่องของร่างกายอย่างเดียว จิตใจก็หมกมุ่นอยู่กับเรื่องการสะสมเรื่องวัตถุ ทางด้านกาย โดยไม่ได้ดูเรื่องใจ เรื่องสังคม หรือเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้อง เรื่องสุขภาวะทางปัญญา ถ้าคนมองและเข้าใจเรื่องนี้สักระดับหนึ่ง มันจะไม่ใช่เรื่องนั้นเรื่องเดียว ไม่ใช่การสะสมหาทรัพยากร หาชื่อเสียงเกียรติยศ หรือ ดูแลแต่ลูกเมียฉัน บริษัทฉันโดยลำพังเพียงอย่างเดียว มันมีอย่างอื่นอีก พอทำอย่างอื่นไปเรื่อยๆ ทำให้บางอย่างมันเกิดขึ้น ผมคิดว่าอันนี้เป็นจุดหนึ่งซึ่งไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยาก ถ้าเราลองเลือกให้คนทำดี คือคนส่วนใหญ่มีแต่ว่าทำแล้วเราได้อะไร แต่ถ้ามนุษย์ลองทำเพื่อคนอื่นสักครั้ง ขณะที่ทำให้คนอื่นแบบไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่ต้องอดอยากยากแค้น แล้วจะรู้สึกว่าอิ่มอยู่ข้างใน จากนั้นค่อยขยายความอิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2. ผมชอบไอเดียเรื่อง inn ของอาจารย์หมอประเวศ individual node network คืองานอาสามีอยู่แล้วทุกคน และถ้าทุกคนได้เริ่ม มันก็ทำได้ แต่พอทำไปสักพักบางทีจะหมดแรง ท้อ หรือโดดเดี่ยว เพราะคนเห็นแก่ตัวกันเยอะ หรือไปตรงโน้นก็เยอะคนจะเอาแต่ประโยชน์ ก็เลยเลิกไป หมดแรง เราก็เอาประโยชน์บ้างเรื่องอะไรจะให้เห็นแก่ตัวคนเดียวแล้วเราจะไปมัวทำให้ เพื่อนอยู่ทำไม ลูกฉันก็มี เมียฉันก็มี บริษัทฉันก็มี ผมคิดว่าอันที่ 2 ต้องเชื่อมโยงกันเป็นระบบ งานอาสาสมัครไม่สามารถจะเป็นองค์กรแนวดิ่งได้ และอยู่ภายใต้ร่มการสั่งการบังคับบัญชาของใครผู้เดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นแบบ inn คือส่งเสริมให้เกิดภาคีเครือข่าย เป็นปัจเจกก็ได้ รวมกันเป็นกลุ่มก้อนก็ได้ และเชื่อมโยงกันเป็น network งานนี้เชื่อมกันกลุ่มนี้เพื่อทำเรื่องนี้ ส่วนงานนี้เชื่อมกับกลุ่มโน้น ฉันอาจจะรู้เรื่องนี้ แต่ฉันไม่มีเวลาไม่มีกำลัง แต่ฉันส่งข่าวให้คุณไปทำ แค่ฉันได้บอกข่าวให้คุณทำก็เป็นอาสาอย่างหนึ่ง ช่วยชี้ช่อง ไม่ใช่ชี้ช่องชั่ว ชี้ช่องดีๆ
Credit รูปภาพจาก : http://matichon.co.th