คุณจะไม่ได้เห็นอะไรเลย หากว่าคุณไม่เดินทาง
หนึ่ง ปีผ่านไปกับการเป็นอาสาสมัครในมูลนิธิชีวิตไท ฉันได้ทำงานเกี่ยวกับสื่อ ถ่ายภาพ ทำวีซีดี มีงานเขียนเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปประชุมตามเวทีต่าง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวของสังคม จากความจริงที่เคยอ่านผ่านตาจากหนังสือ จากโทรทัศน์ ได้รู้จักผู้คนมากมาย หลายสิ่งในชีวิตเปลี่ยนไปแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฉันได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา และหาความรู้เพิ่มเติม ฉันนอนพื้นได้โดยไม่ต้องมีที่นอนนุ่มๆ กินข้าวเหนียวได้กับอาหารทุกอย่าง เดินทางคนเดียวได้แม้จะไปต่างจังหวัด ฯลฯ
ในเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาการเดินทางเรียนรู้ที่เกิดขึ้น จึงมากมายพอ ๆ กับการเดินทางที่ผ่านมาในชีวิต
การเดินทางร่วมต่อสู้กับผู้ถูกรุกราน
เคยสงสัยว่าทำไมคนบางกลุ่มจะต้องมาเรียกร้อง มาเดินขบวน มาชุมนุม ที่หน้าทำเนียบ หน้ารัฐสภาหรือในที่ต่างๆ พวกเขาถูกจ้างมาเพื่อสร้างความวุ่นวาย เพื่อสร้างด้านลบให้กับรัฐบาลหรือเปล่า ทำไมถึงไม่เห็นใจคนอื่นบ้างนะ คนที่ต้องเดินทางผ่านไปผ่านมาแถวนั้น นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นหน้าจอสี่เหลี่ยม แต่เมื่อวันหนึ่งมาถึง วันที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกับกลุ่มคนในจอสี่เหลี่ยม บางข้อสงสัยจึงหายไป ชาวบ้านที่เดินทางมาชุมนุมเรียกร้อง มายื่นหนังสือ มาเพราะเสียงของเขาเพียงเสียงเดียวไม่มีใครได้ยิน เสียงเดียวที่ไม่มีค่าให้ใครหันมาสนใจ จึงต้องรวมกันเป็นหลายเสียงที่ถูกรุกราน จึงต้องเดินทางมาเมืองหลวงเพื่อตะโกนบอกให้สังคมรู้ว่ามีคนเดือนร้อน มีคนถูกเอาเปรียบ มาทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าแทบจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ก็มาเพราะนั่นคือ ความหวังเพื่อขอที่อยู่ที่ยืนในสังคมบ้าง
ในวันที่ฉันยืนอยู่หน้ารัฐสภา ฉันมองผ่านสายตาของผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา สายตาคนขับรถเก๋งคันโก้ สายตาผู้คนบนรถประจำทาง เป็นสายตาของความสงสัย “มากันทำไม” เช่นเดียวกับฉันเมื่อวันวาน
การเดินทางสู่หมู่บ้าน
ฉันลงไปทำอะไรในหมู่บ้าน ลงไปอยู่บ้านชาวบ้าน ไปเรียนรู้วิถีชีวิต ไปเพื่อรู้จักสังคมย่อยๆ ของสังคมใหญ่ ลงไปทำงานกับพวกเขา ไปด้วยความหวังดี เอาสิ่งต่างๆ มากมายไปให้ ทั้งความรู้สถานการณ์ปัจจุบัน นโยบายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแลกเปลี่ยนและโน้มน้าวให้ชาวบ้านเข้าใจสิ่งที่เราเอามาให้ เรื่องเกษตรทางเลือก เรื่องข้าวพื้นบ้าน การแปรรูป และทางออกอีกมากมายเพื่อการพึ่งตนเอง
ฉันลงไปด้วยความหวังดี แต่บางครั้งฉันกลับรู้สึกว่าสิ่งที่ฉันทำเหมือนเป็นการยัดเยียดให้พวกเขา บางครั้งชาวบ้านก็อาจทำด้วยความเกรงใจ ทำเพราะเป็นโครงการลงมาในพื้นที่ แต่ไม่ได้ทำด้วยหัวใจและอยากทำจริงๆ ฉันเองอาจไม่ต่างจากรัฐบาล แต่คงเป็นรัฐบาลนอกทำเนียบ รัฐบาลมีนโยบายลงมา ฉันก็มีโครงการลงไปพื้นที่ รัฐบาลอยากพัฒนาประเทศไปในทางไหนก็ส่งคนลงมาบอกให้ชาวบ้านทำตาม ส่วนฉันว่าอะไรดี น่าจะรักษาไว้ ไม่อยากปล่อยให้หายไป ก็เอาไปบอกชาวบ้าน อยากให้พวกเขาเก็บรักษาไว้ อยากให้ย้อนกลับไปเหมือนเมื่อวันเก่า เพื่อตัวชาวบ้าน เพื่ออนาคต เพื่อลูกหลาน ชาวบ้านก็ยอมทำตาม ที่สุดแล้ว ชาวบ้าน ก็คือ คนกลางของทั้งสองฝ่าย
ฉันเป็นใคร ??? ฉันก็เป็นชาวบ้านคนหนึ่งเหมือนกัน นี่นา
การเดินทางคนละช่องรับสัญญาณ
“ทำงานอะไร” “อ๋อ เอ็นจีโอ พวกที่ชอบประท้วงนะเหรอ” ครั้งหนึ่งฉันเคยพยายามอธิบาย ว่าการประท้วง การชุมนุมของชาวบ้านเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไมต้องทำอย่างนั้น ฉันพยายามยัดเยียดความคิดและการกระทำต่างๆ ที่ฉันสัมผัสให้กับคนที่เพิ่งรู้จัก ซึ่งเขาเชื่อว่า เอ็นจีโอ คือ ความวุ่นวาย แต่สุดท้ายพูดไปก็เท่านั้น เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยืนอยู่มุมของตัวเอง สถานการณ์นี้กับที่หน้าทำเนียบไม่ต่างกันเลย เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจกัน ไม่รับฟัง และไม่อธิบายให้รู้ถึงเหตุผลของตัวเอง ไม่ยอมที่จะเข้าใจการกระทำของผู้อื่น ฉันรู้แค่ว่าฉันทำอะไร และคิดว่าคนอื่นคงจะเข้าใจฉันเท่านั้นเอง. . .
. . . เมื่อคนสองคนมาเจอกันและทำงานร่วมกัน ตามที่ได้ตกลงกันไว้ถึงเป้าหมาย ฉันก็ทำตามวิธีการของฉัน เขาก็ทำตามวิธีการของเขา แต่เมื่อเดินทางมาได้สักระยะเขากลับบอกว่า ไม่ใช่ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่ฉันก็ทำตามเป้าหมายแล้วนี่นา ทำไมถึงไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการล่ะ อ๋อ เพราะเขาอยากให้ฉันใช้วิธีการของเขานั่นเอง นั่นเพราะเราไม่ได้คุยกันถึงวิธีการ ความถนัด และความจำเป็นของทั้งสองฝ่าย เราคุยถึงแต่เป้าหมายเลยลืมเรื่องระหว่างทาง จึงทำให้เราไม่เข้าใจกัน. . .
. . . ฉันนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งหมู่บ้านที่เดินทางไปนั้น ไม่มีใครเลยที่นับถือศาสนาเดียวกับฉัน ฉันคลุมผม ฉันไม่กินหมู และมีอีกหลายอย่างที่สร้างความสงสัยให้กับเด็กๆ และคนในหมู่บ้าน ก่อนที่จะไปในหมู่บ้าน ฉันกลัว. . .กลัวความไม่เข้าใจเป็นที่สุด กลัวว่าชาวบ้านจะคิดว่าฉันรังเกียจที่ไม่กินอาหารของเขา และฉันต้องใช้ภาชนะส่วนตัว ซึ่งตัวฉันเองก็ไม่คุ้นกับภาคอีสานนัก แต่เมื่อไปอยู่ในหมู่บ้านก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงอย่างที่คิด เพราะเมื่อมีคำถามและฉันตอบไปพวกเขาก็เข้าใจ ช่วยดูแลจนรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นภาระของพวกเขาแทน แต่บางอย่างฉันก็ไม่ได้อธิบายให้กระจ่างเท่าไหร่ และยังต้องให้คนรอบข้างช่วยอธิบายแทนอีกด้วย. . .
ฉันจึงคิดว่าสิ่งสำคัญที่มักจะถูกมองข้ามไป คือ การสื่อสาร เราเข้าใจกันได้เพราะการสื่อสารไม่ใช่สัญชาตญาณเหมือนสัตว์ทั่วไป แต่เรากลับใช้มันน้อยลง เราทุกคนต่างก็อยากทำสิ่งที่ดีๆ เพื่อสังคม ทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อย ทั้งการทำงานหนัก การต่อสู้กับสังคมภายนอกและกับใจตัวเอง ถึงแม้จะพูด ก็พูดกันแต่เรื่องงาน สถานการณ์ และความคิดฝันที่อยากให้เป็น แต่มีน้อยครั้งนักที่เราจะพูดคุยกันถึงความคิด ความรู้สึก และการกระทำของกันและกันให้อีกฝ่ายได้เข้าใจ ยิ่งเมื่อทุกอย่างถูกมองเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ ความเหน็ดเหนื่อยเข้าครอบงำ ปัญหาที่ตามมาจึงใหญ่กว่าที่คิด น่าแปลกจัง ทั้งๆ ที่การสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์รวดเร็วทันใจ และง่ายดาย แต่ทำไมมนุษย์ยิ่งห่างไกลกันออกไปทุกที
การเดินทางกลับบ้าน
สิ่งสำคัญที่ฉันได้เรียนรู้อีกอย่าง คือ ถ้าฉันไม่ได้เดินทางก็จะไม่ได้ออกจากบ้าน และก็จะไม่รู้เลยว่าความรู้สึกของการเดินทางกลับบ้านเป็นอย่างไร ความสำคัญของบ้าน การคิดถึงบ้านเป็นอย่างไร อะไรกันนะที่รออยู่ที่บ้าน พ่อ แม่ พี่ แมว คนที่ออกเดินทางจะไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกของคนที่รออยู่เลย. . .
ฉันออกเดินทางเพื่อทำสิ่งที่ต้องการ
ฉันออกเดินทางเพื่อค้นหาบางสิ่ง
ฉันออกเดินทางไปเรื่อยๆ
จนบางครั้ง . . . ฉันลืมคิดถึงคนที่จุดเริ่มต้น
ฉันมุ่งหวังอยากให้สังคมดีขึ้น
ฉันอยากให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้
ฉันมองเห็นผู้คนแก่งแย่งกันเพื่อผลประโยชน์
ฉันอยากให้คนตัวโตมองเห็นคนตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน
ฉันอยากปกป้องผู้คนที่ถูกรุกราน
. . .แต่ฉันกลับทำคนในบ้านหายไปหนึ่งคน
. . . หรือฉันเองเป็นคนทำบ้านหายไป
. . .จากการเดินทางที่ผ่านมา. . .
Credit : http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…