Volunteer

จิตอาสา” หนทางอยู่ร่วมกันในสังคม เริ่มที่คุณ..

การร่วมมือกันรณรงค์ส่งเสริม “จิตอาสา” ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นการเรียก “น้ำใจงาม”ของคนไทย ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง และควรจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม เพราะ จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะญาติมิตร เพื่อน หรือคนรู้จักเท่านั้น แต่ควรต้องเผื่อแผ่ ดูแลสังคมไทย ดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลอดจนปัญหาต่างๆรอบๆตัวร่วมกัน ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ทำดีให้เป็นรูปธรรมกันมากขึ้นใน ไม่เพียงแต่ รอดูว่า ใครจะรับผิดชอบเรื่องอะไร แต่ควรต้องออกมา มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยกัน

ในยุโรป หรืออเมริกา ค่านิยมในการเป็นอาสาสมัครมีมานานแล้ว อันเนื่องมาจากแรงผลักดันของศาสนาคริสต์ และความคิดเรื่องประชาสังคมในสังคมตะวันตกที่มีส่วนผลักดันให้เกิดอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง ยุคแรกของจิตอาสาในไทยมาจากการรวมตัวช่วยเหลือกันในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล ต่อมาเกิดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาตามสถาบันการศึกษา และโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเอ็นจีโอ ทำให้ความคิดเรื่องการทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมแพร่หลาย

มื่อกล่าวถึง “จิตอาสา” อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไม่ถึง ๑๐ ปี ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการ “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมาย..

“จิตอาสา” ว่า คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา “จิตวิญญาณ” ของเราด้วย

“จิตอาสา” คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ ให้กับส่วนรวม…อีกทั้งยังช่วยลด “อัตตา” หรือความเป็นตัว เป็นตนของตนเองลงได้บ้าง

“อาสาสมัคร” เป็นงานที่เกิดจากผู้ที่มี จิตอาสา ซึ่งมีความหมายอย่างมาก กับสังคมส่วนรวม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือ สังคมให้เกิด ประโยชน์และความสุขมากขึ้น

การเป็น “อาสาสมัคร” ไม่ว่าจะเป็นงานใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ในทางบวก ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราควรทำทั้งสิ้น คนที่จะเป็นอาสาสมัครได้นั้น ไม่ได้จำกัดที่ วัย การศึกษา เพศ อาชีพ ฐานะ หรือ ข้อจำกัด ใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่ต้องมีจิตใจ เป็น “จิตอาสา” ที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น หรือสังคม เท่านั้น 

กิจกรรมอาสาสมัคร เป็นกระบวนการของการฝึก “การให้” ที่ดีเพื่อขัดเกลาละวางตัวตน และบ่มเพาะความรัก ความเมตตาผู้อื่น โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ กระบวนการของกิจกรรม ซึ่งเป็นการยอมสละตน เพื่อรับใช้และช่วยเหลือแก้ไขวิกฤติปัญหาของสังคม อาสาสมัครจะได้เรียนรู้ละเอียดอ่อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น สัมผัสความจริง เชื่อมโยงเหตุและปัจจัยความสุขและความทุกข์ เจริญสติในการปฏิบัติงาน ที่ศาสนาพุทธเรียกว่า พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เพื่อให้เกิด “การให้” ที่ดี กิจกรรมอาสาสมัคร จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคคลได้ขัดเกลาตนเอง เรียนรู้ภายใน และเกิดปัญญาได้

ที่ผ่านมาคนไทยอาจเคยชินกับการทำความดีด้วยการใช้เงินลงทุนในการทำบุญ ไม่ค่อยอยากออกแรงช่วยเหลือ เพราะถือว่า การทำบุญกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้มีบุญบารมีจะทำให้คน ๆ นั้นได้บุญมากขึ้น คนไทยจึงมักทำบุญกับพระ บริจาคเงินสร้างโบสถ์ แต่ละเลยการ “ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์”

ไม่ง่ายนักที่จะทำดี ให้ได้ดีกับผู้รับจริง ๆ 

“ประชาสังคม” หมายถึง สภาพสังคมที่มีองค์ประกอบอันหลากหลาย มีฐานมาจากประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม องค์กร ชมรม สมาคม มูลนิธิ มาสร้างเป็นเครือข่าย เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ผลักดันให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

ความสำนึกในเรื่อง “ประชาสังคม” มีมานานแล้วในสังคมตะวันตก คือ ความรู้สึกว่าเราไม่สามารถจะมีความสุขได้ถ้าเราปล่อยปละละเลยสังคมความรู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบต่อสังคม ตรงนี้เป็นคุณธรรมของประชาสังคม และเป็นวัฒนธรรมของสังคมอเมริกัน คนจำนวนมากไม่ศรัทธาในศาสนา แต่ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม อย่างน้อยต้องอุทิศเงินเพื่อกิจการสาธารณะ เขามีสำนึกเรื่อง”จิตสาธารณะ” และฝรั่งเขาถือว่าถ้ารวยต้องช่วยสาธารณะ หรือถ้าว่างเสาร์ อาทิตย์ก็ไปเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในญี่ปุ่น มีคนประเภทนี้เยอะเราไปเที่ยวก็ขอไกด์ฟรีได้ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านมาเป็นอาสาสมัครทั้งวันบางทีเขายังจ่ายค่าอาหารให้ด้วยเขามีความสุขเพราะรู้สึกว่าเป็นเมืองของเขา เขาอยากช่วยเหลือสังคม ซึ่งตรงข้ามกับเมืองไทยที่รู้สึกว่าสังคมไม่ใช่ของเรา ความรู้สึกว่าป่าต้นน้ำ ภูเขา หรือโทรศัพท์สาธารณะเป็นของเรามีน้อยมาก คนไทยจะเน้นเรื่องรัฐมากกว่าสังคมทำให้รู้สึกว่าทรัพย์สินส่วนรวมเป็นของรัฐไม่ใช่ของส่วนรวม เขาถึงบอกว่ารัฐบาล”คอร์รัปชั่น”ก็ไม่เป็นไร ขอให้เอาเงินมาลงในหมู่บ้านก็แล้วกัน เหมือนดั่งนโนบายประชานิยมของรัฐบาลก่อน ๆ ที่สร้างนิสัยการใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็นให้กับประชาชนจากเงินที่หว่านลงไปทุกหมู่บ้าน เพราะเขาคิดว่างบประมาณแผ่นดินไม่ใช่ของเราเป็นของรัฐบาล จึงเห็นได้ว่า ความคิดเรื่องประชาสังคมในเมืองไทยยังไม่มี

การทำกิจกรรมกับชมรมฯ ไม่ว่าด้วยแรงจูงใจใด ๆ ในช่วงเริ่มต้น หากต่อมาขาดซึ่งความรักในสิ่งที่ทำด้วย “จิตอาสา” ในเวลาต่อมาแล้วไซ้ร์ ผลงานที่ออกมาก็เป็นเพียงสิ่งที่เราทำสนุก ๆ เพื่อฆ่าเวลาที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเท่านั้น ไม่มีคุณค่าอันใด เพื่อสร้างจิตวิญญาณและพัฒนาจิตสำนึกเพื่อสังคมในตัวเรา

สิ่งที่เราได้จากการทำกิจกรรมนั้นมีมากมายเหลือคณานับ อยู่ที่คน ๆ นั้นที่จะไขว้คว้าเอง เพื่อให้ได้มาตามที่ใจปรารถนาเท่านั้น

บทความ “จิตอาสา: ที่มาและความหมาย”
โดย โครงการฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา เครือข่ายพุทธิกา