กรุงเทพฯ ในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก  จนดิฉันอดคิดรู้สึกไม่ได้ว่า ชีวิตในอดีต
มีความสุขมากกว่าชีวิตในวันนี้

เมื่อก่อนเราอยู่กับธรรมชาติ แถวฝั่งธนบุรียังมีสวน มีท้องร่องให้กระโดด เวลาฝนตกก็ออกไปวิ่ง
ไล่จับปลาที่ขึ้นมาบนถนน   มีความสุขกับการได้อยู่กับคนที่สนิทสนมประหนึ่งญาติ และไปมาหาสู่กัน
อย่างสม่ำเสมอ  คนกรุงเทพเมื่อก่อนยังนับญาติกันเป็นครอบครัวใหญ่ ลูกของแต่ละครอบครัวจะรู้จัก
และสนิทกัน ญาติๆ ของดิฉันจะมาอยู่บ้านในกรุงเทพรวมกันเพื่อเรียนต่อ  และจะรู้จักกันหมดตั้งแต่
หัวซอยถึงท้ายซอย   เวลาไปตลาด คนก็รู้จักกันทั้งตลาด ซื้อของก็มีการแถมให้กัน
แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างหายไป

เด็กกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ห่างธรรมชาติออกมาเรื่อยๆ  ไม่รู้จักความสนุกกับการเล่นในธรรมชาติ
บางคนไม่รู้จักใบมะพร้าว  บางคนไม่เคยเห็นควาย   เทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ความใกล้ชิดกับ
ผู้คนรอบๆ ตัว ลดน้อยลงไปตามการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย   โชคดีที่บ้านย่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
และมีสวนอยู่ด้วย  ทำให้ลูกสาวทั้งสองคนของดิฉันได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่ดี  ได้ปีนเก็บลูกตะลิงปลิง
ลูกมะยมจากต้น  หัดทำกะปิหวานที่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้ว   เวลาจะกินน้ำพริก ก็ต้องไปเก็บผัก
จากสวนหลังบ้าน   ถึงฤดูน้ำหลากน้ำท่วม พวกเขาก็ได้ทำหน้าที่พายเรือรับส่งคน

การเรียนรู้ของเด็กขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม  หากที่ที่เราอยู่มีพื้นที่ของธรรมชาติ  มีวัฒนธรรมประเพณี
ที่ดีงามที่สืบทอดต่อมา  ก็ทำให้ชีวิตมีสีสัน  สนุกสนาน  ได้ใกล้ชิดกับผู้คนรอบตัว  เนื่องจากวิถีชีวิต
เกื้อหนุนให้เกิดความสนิทสนมกันในรูปแบบครอบครัว  มีการไปมาหาสู่กัน  มีกิจกรรมเชื่อมโยง
ระหว่างญาติพี่น้อง  เช่นทุกปี จะมีการไปทำบุญต่างจังหวัดด้วยกัน   แต่ทุกวันนี้เด็กๆ มักจะมาร่วม
กิจกรรมกับญาติๆ ไม่ได้ เนื่องจากต้องเรียนพิเศษ   สายใยความสัมพันธ์จึงขาดหายไป
จริงๆ แล้วความสุขของคนอีกอย่างหนึ่งคือ การได้พูดคุยกัน  ตอนนี้เราไม่เพียงห่างจากธรรมชาติ
แต่ยังห่างจากคนที่สัมพันธ์ใกล้ชิด ญาติพี่น้อง  ความสุขของคนสมัยนี้จึงวิวัฒนาการไปเป็น
ความสุขเฉพาะตัว  แต่ขาดความสุขในเชิงปฏิสัมพันธ์  ทั้งๆ ที่ความสุขเชิง
ปฎิสัมพันธ์ให้คุณค่าเชิงความรู้สึกมากกว่า    อาจจะลองเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ความสุขที่เกิดขึ้น
ระหว่างคนที่ชื่นชอบกัน ประทับใจกัน กับความสุขที่เกิดจากการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ชนะ อย่างไหน
ให้คุณค่ามากกว่ากัน

การสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับผู้คน ชุมชนในกรุงเทพนั้น  เป็นสิ่งที่เป็นไปได้  หากแต่ต้องใช้ความ
สัมพันธ์อีกลักษณะหนึ่งเข้ามาแทนที่   คือความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ แต่เมื่อคบกันแล้วเป็น
ประหนึ่งญาติ อันเกิดจากการที่เรามีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ชอบด้วยกัน ได้มาพบ ได้คุยในเรื่องถูกคอ
เหมือนสภากาแฟของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน   ที่สำคัญคือ สิ่งที่ได้ทำนั้นเกิดประโยชน์กับคนอื่น
ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าร่วมขึ้นมาระหว่างความสัมพันธ์ของคนในกลุ่ม  อย่างเช่น กลุ่มอาสาสมัครสึนามิ
ที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนหลากหลายอาชีพที่มาพบปะกันเป็นประจำ คอยดูแลซึ่งกันและกัน
และมีการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง
แต่โดยทั่วไปคนกรุงเทพฯ  มักจะอยู่เพียงลำพัง จึงต้องค้นหาคนที่มีใจอาสาสมัครเหล่านี้
การที่ได้มีโอกาสพบเจอกัน  มักทำให้มีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเกิดขึ้นตามมาอีก
ที่จริงคนที่เข้ามาเพื่อทำอะไรให้คนอื่น   ไม่จำเป็นต้องมีความพร้อมมากมาย นอกจากมีเวลา
มีใจให้  ที่สำคัญต้องพบกันแบบได้เห็นหน้ากัน (Face to face) อย่างต่อเนื่อง  ไม่จำเป็นต้องพูด
เรื่องงานมาก   เมื่อเจอกันก็พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบ   คนที่มีความคิดคล้ายกัน คุยกันไม่นานก็
เหมือนรู้จักกันมานาน   และไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนในอาชีพเดียวกัน   อยู่ตึกเดียวกันหรืออยู่ใน
พื้นที่เดียวกัน ถึงจะมารวมกลุ่มได้   ซึ่งสิ่งนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่  เพราะในกลุ่มของอาสาสมัคร
สึนามินั้น  ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าบ้านใครอยู่ที่ไหน แต่ก็สนุกและถูกใจที่ได้มาพบกัน  เกิดเป็นความสุข
ทั้งกายและใจ  นอกจากนั้น แต่ละคนก็มีทรัพยากร  มีความชำนาญเฉพาะของตัวเอง  ถ้าใคร
อยากให้ช่วยอะไร ขอเพียงเอ่ยปาก คนอื่นๆ ก็จะช่วยสนับสนุน เพื่อให้มีโอกาสได้ทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน
อยู่เรื่อยๆ  ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความสัมพันธ์ที่สนิทสนมจากการรวมกลุ่มของผู้คนที่มี
จิตอาสา และความวางใจเชื่อใจกันว่า ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำกิจกรรมนั้นเป็นคนดีแน่ๆ
จึงพร้อมจะสนับสนุน เพื่อเชื่อมต่อโอกาสที่จะได้ทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน แม้บางครั้งคนอื่นๆ
จะไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมด้วยก็ตาม
การที่คนอยากให้  อยากแบ่งปัน  อยากอาสา   น่าจะเป็นลักษณะที่เกิดเองจาก
ความเป็นมนุษย์ โดยลักษณะธรรมชาติของความเป็นเพื่อนฝูงใกล้ชิด เป็นกลุ่ม เป็นก๊วน
ถามว่า จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ภัยพิบัติอะไรแบบสึนามิเกิดขึ้นไหม ถึงจะทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คน
คงตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นอะไรที่ตายตัว  แต่ละคนมักมีกลุ่มของตัวเองที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร
กันอยู่ก่อนเลย  แต่ถ้าเกิดมีสะพานของเพื่อนอีกคนหนึ่งที่สนิทสนมกันมาเชื่อมต่อให้ไปทำงาน
สาธารณประโยชน์  ก็จะทำให้พวกเขาทำอะไรได้ใหญ่ขึ้น เกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นมาได้
จากการที่สามารถรวมคนไปทำอะไรดีๆ ต่อสังคม  เพียงแต่ว่าสะพานนี้ต้องอยู่บนฐานของความ
ไว้เนื้อเชื่อใจ และความผูกพัน  มิใช่เฉพาะการได้ทำกิจกรรมส่วนรวมร่วมกันบ่อยๆ
การสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้น  จำเป็นต้องใช้ทุน ใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งเราอาจเรียกว่า
“ทรัพยากรเพื่อสุขภาวะ” ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์  ไม่จำเป็นต้องเป็น
เรื่องของเงินเท่านั้น  ที่สำคัญคือ เครือข่าย (Connection) ที่เรารู้จัก   เป็นต้นว่า
เมื่อมีการจัดงานอะไรขึ้นมาสักอย่าง  คนที่ทำกับข้าวเก่งก็มาช่วยทำกับข้าว  คนที่มีโต๊ะเก้าอี้ก็อาจ
จะให้หยิบยืมมาใช้  ดังนั้นการเกิดขึ้นหรือการได้มาของทรัพยากรต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาวะ  มักจะเกิด
จากฐานของความสัมพันธ์อันเข้มแข็งดังกล่าว  การสนับสนุนให้เกิดการรวมตัว รวมกลุ่มจึงมีความสำคัญ
ซึ่งจริงๆ แล้ว คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งก็มีการรวมตัวกันอยู่แล้วในรูปลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่เราต้องมองไป
ที่กลุ่มที่รวมตัวกันแล้วทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม   แสวงหาคนที่มีจิตใจอยากให้ แล้วเข้าไป
สนับสนุนให้เกิดการพบปะกัน ซึ่งต้องค้นหาความสนใจของเขา   แล้วดูว่าเราจะช่วยเสริมอะไรได้บ้าง
หรือใครจะเข้ามาสนับสนุนได้บ้าง  เช่น การมีพื้นที่ที่เอื้ออำนวยในการพบปะเจอะเจอกัน   อาจเป็น
พื้นที่สาธารณะ  เป็นศูนย์หรือคอมเพล็กซ์  ที่จัดมุมไว้หลากหลายตามความสนใจ  มีจุดให้ผู้คนเอาของ
มาบริจาคเพื่อขายเอาเงินไปให้เด็กทำกิจกรรม   มีส่วนที่เป็นธรรมชาติ   มีทั้งพื้นที่ใหญ่ พื้นที่เล็ก
มีบริการเรื่องอาหาร   ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการพบเจอกัน  มีความเป็นส่วนตัวสอดรับกับกลุ่มที่มา
ใช้พื้นที่   ถ้ามีพื้นที่อย่างนี้เกิดขึ้นหลายๆ แห่ง  น่าจะเอื้อให้ผู้คนได้ไปพบปะกันมากขึ้น
การที่ผู้คนได้เชื่อมโยงกัน มาทำสิ่งดีๆ ร่วมกันนี้  หากเกิดขึ้นบนฐานความสัมพันธ์
ก็มักจะทำให้เกิดความสุข  และสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวเอง

โดย นิศานาถ โยธาสมุทร

http://www.bangkokforum.net/know_eimsuk_kgbcsr_01.htm