หลิกรอกระ

วันนี้ผมได้นั่งดูการถ่ายทอดพิธีไหว้ครูของคนไทยทางทีวี พิธีกรรมนี้ช่างศักดิ์สิทธิ์ นักเรียนและผู้ที่มาร่วมงานน้อมใจเคารพบุคคลผู้เป็นครู  ภาพนี้ทำให้ผมย้อนคิดถึงครูที่โรงเรียนผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่า ครูที่นั่นต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก พวกเขาต้องสอนหนังสืออยู่ท่ามกลางภาวะสงคราม บางคนไม่ได้รับเงินเดือน คนที่ได้ก็ได้น้อยมากจนต้องอาศัยกินอยู่กับชาวบ้าน และนอกจากชาวบ้านและเด็ก ๆ นักเรียนแล้ว ก็แทบจะไม่มีใครให้ความสำคัญหรือยกย่องครูเหล่านั้นอย่างที่ผมเห็นในทีวีเลย

ที่โรงเรียนเด็กพลัดถิ่นแห่งหนึ่ง มีครูผู้ชายอยู่คนหนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย “เธอ”ใช้ชีวิตและแต่งตัวอย่างผู้หญิง คนในหมู่บ้านและนักเรียนต่างเรียกเธอว่า “ครูหญิง” อย่างให้เกียรติกับวิถีชีวิตที่เธอเลือก ส่วนผมและเพื่อนร่วมงานจะเรียกเธอว่า “ครูหญิงน้อย” ด้วยความเอ็นดู แต่ก็มีบางคนที่เรียกเธอว่า “กะเทย” แต่เธอก็ไม่เคยถือโทษโกรธใคร และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามทางที่เลือกเสมอมา

แม้ครูหญิงน้อยจะเรียนไม่ชั้น10* แต่เธอก็เป็นครูที่อดทนและเสียสละสอนหนังสืออยู่ในป่าในดอย แม้พื้นที่นั้นเสี่ยงภัยการสู้รบ และเธอก็ต้องตกอยู่ในสภาพเสี่ยงอันตรายอยู่บ่อยครั้ง ครูหลายคนไม่กล้าอยู่หรือไม่อดทนอยู่นานเหมือนเธอ

ในปี 2552 เกิดการสู้รบขึ้นใกล้ ๆ หมู่บ้านที่ครูหญิงน้อยสอนอยู่อีกครั้ง เสียงปืนดังใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ จนเธอต้องพาเด็ก ๆ ทั้งหมดนั่งเรือข้ามแม่น้ำเมยมาลี้ภัยในประเทศไทย ชาวบ้านเกือบทุกคนและจากหลายหมู่บ้านในที่สุดก็ข้ามแม่น้ำมาลี้ภัยเช่นกัน ทุก ๆ วันเจ้าหน้าที่ชุดดำก็เข้ามาที่หมู่บ้านที่เธอลี้ภัยอยู่ และบอกให้พวกเธอรีบกลับฝั่งพม่าไปเสีย เจ้าหน้าที่บางคนก็ล้อเลียนที่ครูหญิงน้อยแตกต่างจากทั้งผู้ชายและผู้หญิงคน อื่น บางคนหยอกเธอแบบถึงเนื้อถึงตัว แต่ครูหญิงน้อยก็ต้องอดทน เพราะการกลับบ้านไปก็ไม่ต่างอะไรกับการเดินไปสู่ความตาย

ไม่นานนัก ชาวบ้านที่หนีภัยมาก็ช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยผ้าเต็นท์ แล้วความสุขของครูหญิงน้อยก็กลับคืนมาอีกครั้ง แม้การสอนหนังสือใต้ผ้าเต็นท์จะร้อนอบอ้าวเสียจนทั้งครูและนักเรียนเหงื่อ ไหลท่วม แต่ก็ยังดีที่ได้อยู่ใต้ร่มบังแดดบังฝน โชคร้ายที่พอฝนตกแรง ลมพายุก็พัดผ้าเต็นท์จนขาดวิ่น และเจ้าหน้าที่ก็กลับไม่อนุญาตให้ซ่อมหลังคาโรงเรียนอีก เพื่อกดดันให้ผู้ลี้ภัยกลับบ้านไปในเร็ววัน เวลานั้นเธอได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “มาอยู่บ้านเพื่อนก็แสนจะลำบาก จะกลับไปบ้านตัวเองก็ยังไม่ได้ แล้วชีวิตเราจะเดินไปทางไหนดี”

หลังจาก 11 เดือนที่ครูหญิงน้อยมาเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ที่ชายแดนไทย เธอก็ตัดสินใจได้ว่า ถึงจะอยู่ที่นี่ต่อไป ก็ไม่ต่างอะไรกับกลับไปเสี่ยงภัยที่บ้านของตัว ในที่สุด เธอตัดสินใจว่าจะเป็นหรือตาย จะยากลำบากแค่ไหน ก็จะเดินทางกลับไปตายที่หมู่บ้าน

ฤดูฝนเวียนมาอีกหน ครูหญิงน้อยและเพื่อนครูอีกคนได้เปิดโรงเรียนสอนที่หมู่บ้านเดิมอีกครั้ง ชาวบ้านต่างดีใจ เมื่อนักเรียนในหมู่บ้านใกล้เคียงรู้ข่าว ต่างก็เดินทางมาเรียนที่โรงเรียนของเธอ จนโรงเรียนเล็ก ๆ ต้องรับนักเรียนร่วมเจ็ดสิบคน

แต่ แล้วในวันฝนพรำ ก่อนจะหยุดพักเที่ยง เสียงระเบิดก็ดังก้องขึ้น ตามด้วยเสียงปืนยาว และปืนใหญ่ดังติดต่อกันใกล้ ๆ โรงเรียนของครูหญิงน้อย เธอร้องตะโกนให้เด็กนักเรียนรีบออกจากโรงเรียนไปหลบในที่ปลอดภัย หลังจากนับจำนวนนักเรียนที่หลบภัยได้ครบคน เธอก็เพิ่งรู้สึกได้ว่าว่ามือและเท้าของตัวเองเย็นแค่ไหน

เสียงปืนคราวนั้นเงียบไปในที่สุด แต่ครูหญิงน้อยก็หวาดหวั่นใจอยู่ตลอดเวลา ว่าแล้วถ้าเกิดเสียงปืนดังไม่หยุดเล่า เธอและนักเรียนจะไปหลบอยู่ที่ไหน จะกลับไปฝั่งไทยก็คงต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ชุดดำเดิม ๆ อีก ต้องถูกข่มขู่คุกคาม และกดดันให้เดินทางกลับโดยไม่สนใจว่าจะมีอะไรรอเธออยู่อีก

หากผมมีโอกาสได้เจอกับครูหญิงน้อยอีกครั้ง ผมจะบอกกับเธอว่า อย่ากังวลใจไปเลย เธอได้ทำทุกสิ่งอย่างดีที่สุดอย่างที่ไม่มีใครทำได้แล้ว ผมยกย่องในความอดทนและเสียสละของเธอ ที่ให้โอกาสทางการศึกษากับเด็ก ๆ ในป่าในดอยอย่างไม่ย่อท้อและไม่เห็นแก่เงินตอบแทน ผมภูมิใจในตัวเธอมาก และอยากให้เธอรักษาความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ “ครู” นี้ตลอดไป


ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th