ในปัจจุบันอาชีพ “ครู” ดูเหมือนว่าจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเป็นทั้งนี้เนื่องจากภาพรวมของอาชีพนี้ที่ถูกมองว่าเป็นงาน หนัก รายได้น้อย ไม่ได้มีหน้าตาหรือถูกยอมรับจากสังคม

แต่ในขณะเดียวกันเราไม่อาจปฏิเสธว่า “คุณภาพของครู เป็นตัวกำหนดคุณภาพทางการศึกษา” ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับอาชีพครูเป็นอย่างมาก อย่างประเทศสิงคโปร์ได้มีการออกกฎหมายให้ผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นครูต้องมาจาก หัวกระทิลำดับต้นๆ ของชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ด้วยความสำคัญดังกล่าว “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” ภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งปฎิรูปค่านิยมที่สังคมมีต่อครูด้วยการเชิดชูยกย่องและ มอบรางวัลให้แก่ครูสอนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครูท้องถิ่นและครูทั้งประเทศ

แต่ความเป็น “ครู” ไม่ได้ถูกกำหนดไว้เฉพาะผู้ที่ทำงานในสถาบันศึกษาเพียงเท่านั้น “ความเป็นครู” เกิดขึ้นได้กับคนทุกสาขาอาชีพที่ทุ่มเทเสียสละในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพ ชีวิตเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบ ที่ถึงแม้กระแสโลกาภิวัฒน์จะไหลบ่าอย่างรุนแรงแค่ไหน “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ที่มีคุณค่ามากกว่าการยืนถือชอล์กหน้ากระดานดำ ก็ไม่เคยถูกกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดพาไปจนหมดสิ้นหรือเลือนหายไปจากสังคมไทย

วรัทยา จันทรัตน์ หรือ “ครูเจี๊ยบ” ของ เด็กเร่รอนและเด็กด้อยโอกาสจากชุมชนริมทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา ที่ทำงานเป็นครูอาสาดูแลเด็กเร่ร่อนมานานกว่า 7 ปี บอกเล่าถึงงานที่ทำว่าเปรียบเสมือนการเพาะปลูกต้นไม้หลากสายพันธุ์ ที่ต้องหมั่นเติมความรู้เป็นปุ๋ย รดน้ำด้วยความรัก และยังต้องช่วยประคับประคองให้ต้นไม้แต่ละต้นเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง

“อยากให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาส ได้เรียนหนังสือ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่ร่อน เป็นขอทาน เก็บของเก่าขายเพราะการศึกษาคือพื้นฐานของชีวิต ถ้ามีพื้นฐานดี ก็จะเป็นผลทำให้สิ่งอื่นๆ ในชีวิตดีขึ้น เด็กเร่ร่อนก็เป็นคนที่มีความสำคัญของสังคม ถ้าเขาได้รับการพัฒนา มีคนหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้ เขาก็จะมีโอกาสพัฒนาเป็นคนที่ดี เป็นคนที่มีค่าของสังคมได้”

โดยกิจกรรมหลักที่ทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ก็คือเรื่องของการให้การศึกษา ด้วยการให้ความรู้ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ คนที่มีความพร้อมในการเรียนก็ส่งต่อให้เข้าเรียน แต่สิ่งสำคัญก็คือเน้นการสอนทักษะชีวิตให้เขาสามารถใช้ชีวิตเร่ร่อนได้อย่าง มีคุณภาพ มีการปรับพฤติกรรมเด็กผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เช่นการมีชีวิตอยู่ในสังคม การดูแลสุขภาพร่างกายตนเอง มีจิตสาธารณะ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้เกิดขึ้นในตัวของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กเร่ร่อนเหล่านี้ไม่กลายเป็นปัญหาและภาระกับสังคม

 

“ความสุขในชีวิตของใครหลายคนอาจจะอยู่ที่การทำงานได้ค่าตอบแทนสูง แต่ความสุขของเราอยู่ที่การได้ทำงานเพื่อเด็กๆ ด้อยโอกาส ได้เป็นครูสอนวิชาชีวิตให้กับเด็กเร่ร่อน เพราะครูคือผู้ให้ ให้ด้วยการเติมเต็มความรัก เพิ่มเติมความรู้ เด็กก็เหมือนกับเมล็ดพันธ์ต้นไม้ที่เราต้องเติมเต็มปุ๋ยความรักและความรู้ เมื่อเราได้เฝ้าดูได้เห็นเขาเติบโตขึ้นเป็นคนดีในสังคมเราก็มีความสุขที่สุด แล้ว” ครูเจี๊ยบกล่าว

เช่นเดียวกับ ด.ต.สมศักดิ์ บุญรัตน์ หรือ “พ่อครู” ครูตำรวจข้างถนนของเด็กเร่ร่อนในพื้นที่กว่า 50 ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ที่ถึงแม้ว่าอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะดูเหมือนว่าไม่สามารถเข้ากันได้ กับพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ แต่เมื่อถอดเครื่องแบบสีกากีแล้วเดินเข้าหาหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความเมตตา ช่องว่างระหว่างปัญหาก็ดูเหมือนว่าจะแคบลง

“ทุกคนจะมองเด็กกลุ่มนี้ว่าไม่น่าไว้วางใจ ไม่ให้โอกาสเด็ก แต่ไม่เคยรู้เลยว่าปัญหาของเด็กเร่ร่อนเกิดมาเพราะอะไร ไม่มองย้อนกลับไปดูที่ต้นเหตุว่ามาจากปัญหาครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อม จริงแล้วเด็กทุกคนมีพื้นฐานจิตใจที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กมาจากการกระทำและสั่งสมของผู้ใหญ่”

ทำให้ทุกวันนี้การทำงานของครูตำรวจข้างถนน จึงมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กออกมาเร่ร่อน โดยเข้าไปสกัดกั้นที่ชุมชนและครอบครัว โดยทำให้เด็กๆ ได้รับรู้ว่าหากออกไปเร่ร่อนสร้างความเดือดร้อนให้สังคมอนาคตก็คือตายหรือ ติดคุก ด้วยการให้ความรู้ โดยเน้นไปที่การสอนให้เป็นคนดี สอนให้เด็กได้รู้จักคิด รู้จักผิดชอบชั่วดี ให้รู้จักคุณค่าของตัวเอง ให้ความรักและความอบอุ่น เพื่อให้เขาปรับตัวเป็นคนดี ให้สังคมยอมรับ

“ทุกวันนี้ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นตำรวจเลย เพราะงานของตำรวจเป็นงานที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่งานของครูจิตอาสาเป็นงานที่ต้องดูแลเด็กแต่ละคนอย่างละเอียดลึกซึ้ง เป็นงานที่ท้าทายเพราะต้องทำความเข้าใจเด็กแต่ละคน ทำคนที่ไม่ดีให้เป็นคนดีกลับสู่สังคมและทำให้เด็กเหล่านี้ได้รู้จักว่าสิ่ง ไหนผิด สิ่งไหนถูก เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะไปก่อปัญหาให้กับสังคมเมื่อไร แทนที่จะไปไล่จับโจร เรามาหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดดีกว่า เพราะเมื่อคุณภาพชีวิตคนดี สังคมก็จะดี”

“จริงๆ แล้วเด็กเหล่านี้ต่างหากที่เป็นครูของเรา เพราะเขาเอาชีวิตของเขามาสอนเรา เป็นประสบการณ์ให้เราเอาไปถ่ายทอดสอนคนอื่นๆ นำไปปรับปรุงแก้ไขชีวิตของเด็กคนอื่นๆ ในชุมชน ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เด็กทุกคนจึงเป็นครูของเราที่ดีที่สุด” พ่อครูตำรวจกล่าวเหล่านี้เป็นทัศนะเพียงบางส่วนจากครูผู้ที่ได้รับการเสนอ ชื่อเข้ารับทุนในโครงการ “ครูสอนดี” ของ “สสค.” ที่ล้วนทุ่มเทอุทิศตนเพื่อเด็กและเยาวชนที่สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของความ เป็นครู ที่ไม่เคยเลือนหาย และจะถูกจุดประกายให้ส่องสว่างขึ้นมาอีกครั้งเมื่อสังคมตระหนัก เห็นคุณค่า และให้ความสำคัญกับ “ครู” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น “ครูอาชีพ” แต่มีความเป็น “ครู” อยู่ในหัวใจอย่างแท้จริง

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน