เปรียบ เราเป็นมีดเป็นดาบ หากเราอยากให้ตัวเองคม ต้องเอาตัวเองไปลับ….ถอดความและเรียบเรียงจากบทนำเสนอ “การสร้างครูพันธุ์ใหม่ …หัวใจสำคัญของการศึกษาทางเลือก” ในวาระ “สรุปบทเรียนครบรอบ 1 ปี อาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก สู่ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษารอบ 2” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2553 ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ เขตบางมด กรุงเทพฯ
โดย อ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ
แม้จะให้เรามองภาพกว้างๆ อย่าเพิ่งให้ความสำคัญกับคำว่า “การศึกษาทางเลือก” ให้มาก แต่มันก็ยังมีที่มา มีเหตุให้เราต้องทำสิ่งเหล่านี้ วิกฤติสังคมไทยเป็นสาเหตุหนึ่ง เราเป็นนักอนาคตศาสตร์ มีความเป็นห่วงลูกห่วงหลาน นึกภาพว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เด็กๆ จะอยู่อย่างไร ยิ่งเห็นสภาพสังคมไทย เรายิ่งตื่นเต้น มีอะไรก็รีบทำ ระหว่างทำก็ทดลองดูว่ามันจะมีคำตอบไหม
รุ่งอรุณมีคำถามชุดหนึ่งให้ทดลอง เราอยากทดลองหาวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์จะได้ไหม เราพบว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคของคนคือ “ภาวะภายในของเราเอง” เราเองจึงพยายามเล่นกับเขาดู เราไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ทำอย่างไรคนเราจะรักษาภาวะการเรียนรู้ที่ดีของตนเองให้อยู่ได้ เป็นการบ่มเพาะภาวะภายใน ที่ผ่านมาพวกเราพยายามฆ่าตัดตอนการเรียนรู้ของมนุษย์ โจทย์ที่ท้าทายคือเราจะเริ่มต้นจากจุดไหน จะเปลี่ยนกฎหมายก็ยาก
เราพบว่าจุดคานงัดที่สำคัญคือ “ครู” และครูสร้างได้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งพิเศษ เราเชื่อในความพิเศษของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นองค์ประกอบเดียวในธรรมชาติที่เลือกได้ว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร สิ่งอื่นอย่างอื่นล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่มนุษย์มี “ตัวรู้” แต่ต้องฝึกอยู่เรื่อยๆ ต้องเรียนรู้ ชีวิตคือการเรียนรู้ เราจะพูดว่า การเรียนรู้ไปงอกงามอยู่ในตัวคนได้อย่างไร มันยากมากจะถอดหัวใจของครูมาเรียนรู้ ที่นี่จึงสอนครู ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างครู ครูที่รู้จักการเรียนรู้ของตนเอง ไม่ใช่นักเรียนจะถูกสอนอยู่ตลอดเวลา
วิชาในปัจจุบัน เด็กเข้าถึงได้ง่าย แต่ความเป็นครูของครูปัจจุบันหายไป เราสร้างวิธีการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ของครู เรียนรู้จริงๆ การเรียนรู้มันต้องอยู่ในทุกอณูทุกเรื่องราวของครู เราเริ่มต้นตั้งแต่การคิดที่เป็นระบบ เราสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเรียนการสอนอยู่ตลอด และไปพร้อมกัน และครูได้มีโอกาสได้เผชิญกับสถานการณ์การเรียนการสอนสดๆ มันต้องมีชีวิต ครูต้องปรับท่าทีใหม่ มันยาก เพราะแค่การสังเกตก็ยากแล้ว สังเกตแล้วก็ยังไม่เห็นความหมาย เห็นแต่สิ่งของแต่ไม่เห็นความหมาย หากครูไม่สังเกต ครูจะพาเด็กทำสิ่งที่เรียน เราจึงพาครูไปฝึกสติ
ถามว่าคุณสอนประวัติศาสตร์ไปทำไม สอนหลายๆ เรื่องไปทำไม ยกตัวอย่างครูคณิตศาสตร์ สอนเลขได้ แต่เวลาทำอาหารซึ่งต้องชั่งตวงวัด ครูก็ไม่เห็นว่ามันเป็นคณิตศาสตร์ หากครูไม่สังเกต “ครูจะคิดเลขเป็น แต่ไม่มีวิธีคิด”
ยกตัวอย่างลูกศิษย์บางคน เขาเล่าเรื่องว่า เขาตามเรื่องราวสถานการณ์บ้านเมืองในเฟสบุ๊ค เขาบอกเขาเจอข้อมูลความคิดมหาศาล เขาไปไม่เป็น เจอความจริงแล้วไปไม่เป็น นั่นเพราะเรื่องทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป เราไม่เห็นที่มาที่ไป เราหยุดดู ตัดตอนปรากฏการณ์ เราก็ไม่เข้าใจ เพราะเราเรียนอยู่แต่ในตำรา แต่บริบทหาย หากเราเรียนจากความจริง แล้วค่อยๆ เอาความรู้เอาตำราเข้ามาเสริม
ที่รุ่งอรุณเราตั้งโจทย์แบบนี้ พยายามให้ครูเป็นแบบนี้ แต่มันยาก เพราะครูก็ติดอยู่กับตัวเอง เปรียบเราเป็นมีดเป็นดาบ หากเราอยากให้ตัวเองคม ต้องเอาตัวเองไปลับ คนเราสมัยนี้เกิดมาสบาย ทำให้มีนิสัยไม่ยอมเสี่ยง ไม่ยอมเจ็บตัว ไม่ยอมอยู่ในภาวะยากลำบาก และความท้าทายของการสร้างครูพันธุ์ใหม่อยู่ตรงนี้
เขียนโดย อ.ประภาภัทร นิยม
ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…