“ครูพันธุ์ ใหม่” หัวใจของการศึกษาทางเลือก “ครูทางเลือก” ปรัชญาการเรียนรู้จากธรรมชาติ

เก็บความจากเวที “เส้นทางครูอาสากับการสร้างครูพันธุ์ใหม่เพื่อการศึกษาทางเลือก: ประสบการณ์โครงการครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก…สู่ข้อเสนอการ ปฏิรูปการศึกษารอบ 2” ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2533 ณ สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ เรื่องโดยแม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา

มนุษย์กำลังอยู่ในสะดือพายุแห่งความ เสื่อมโทรม ทั้งด้านวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน อาหาร และทรัพยากรธรรมชาติ อ.ชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน โรงเรียนตื่นรู้ วิเคราะห์เหตุแห่งวิกฤตเหล่านี้ว่า “โลกมีความรู้มากมาย แต่เราใช้ความรู้นั้นไม่เป็น”

ในเวทีพูดคุยเรื่อง เส้นทางครูอาสากับการสร้างครูพันธุ์ใหม่เพื่อการศึกษาทางเลือก: ประสบการณ์โครงการครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก…สู่ข้อเสนอการ ปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ที่จัดขึ้นในวันที่ 4-6 มิถุนายน 2533 ณ สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ มีผู้บุกเบิกที่ทำให้คำว่า “การศึกษาทางเลือก” กลายเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมานั่งให้ข้อคิด เห็นต่อระบบการศึกษา ทั้งกระแสหลักและกระแสทางเลือกอย่างมีพลัง

อ.สำรวย ผัดผล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชาวนา จ.น่าน ให้เหตุผลถึงการตั้งโรงเรียนชาวนา หนึ่งในสถานที่ซึ่งบ่มเพาะการศึกษาทางเลือกว่า “เรามองถึงทางเลือกเมื่อคนอยากจะฟื้นฟูหลังจากเกิดวิกฤต มันเป็นแนวทางหนึ่งในการฟื้นฟูวิกฤตอาหารอนาคตสำหรับคนที่อยากจะ กลับตัว การเรียนรู้ในโรงเรียนเกิดขึ้นโดยมีชาวนาจำนวนมากเป็นคนสอนเรา สอนอย่างมั่นใจ” การเรียนไม่ใช้ ก. ถึง ฮ. – A ถึง Z เพราะใช้วัสดุทุกอย่างรอบตัวในการเรียนการสอน

“เมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดได้หน่อข้าว 40 หน่อ หน่อ 40 หน่อได้ข้าวเต็มทุ่ง แล้วต้องการเงินไปทำอะไร” อ.สำรวย สรุปปรัชญาการเรียนรู้ในโรงเรียน

สำหรับนักออกแบบการศึกษาทางเลือก ในยุคบุกเบิก ทุกคนเห็นพ้องกันว่าการศึกษาทางเลือกเป็นธรรมชาติ เป็นการเตรียมพร้อม เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ทางออกเพื่อการแก้ไขวิกฤตรอบด้านของโลก

“ธรรมชาติของการเรียนรู้ของมนุษย์ มีอยู่แล้ว คุณไม่ต้องไปสอนอะไรเลยก็ได้ แต่ธรรมชาติของการเรียนรู้แบบนี้มันถูกทำลาย ถูกฆ่าตัดตอน เราไปเบรคมัน แล้วความมั่นใจมันหายไป สัญชาติญาณการเรียนรู้ตามธรรมชาติมันเสียหาย แล้วในหัวก็มีขยะมีไวรัสเข้าไปเต็มไปหมด”

“การศึกษาทางเลือกไม่ใช่ทางออก แต่มันไม่ใช่กระแสหลัก มันเป็นเรื่องของการทวนกระแส ซึ่งเป็นหน่ออ่อนที่แทงยอดขึ้นมาใหม่ แล้วจะทำให้กระแสหลักเห็นตัวเอง การศึกษาทางเลือกจึงไม่ใช่ทำเพื่อแก้วิกฤต วิกฤตมันจะผ่านไป แล้วทางเลือกจะเกิดขึ้นมาเอง สิ่งที่ทำกันอยู่เป็นการเตรียม ไม่ใช่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม” อาจารย์ชาญชัย พูด

เช่นเดียวกับ อ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่กล่าวตรงกัน และให้แนวทางความหมายอันเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาทาง เลือกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า

“เราเป็นนักอนาคตศาสตร์ คือมองไปอีก 10 ปีข้างหน้า ลูกหลานจะอยู่อย่างไร คำถามคือเราจะเตรียมอะไรไว้ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ที่ทุกคนทำคือทดลองหาวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ของมนุษย์ที่จะเอาตัวรอดในโลกนี้ ท้าทายแต่ยากมาก ที่สำคัญคือสิ่งที่อยู่ภายใน ทำอย่างไรคนถึงจะบ่มเพาะและรักษาการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของตนเอง เอาไว้ได้”


การศึกษาทางเลือก ยังถูกสะท้อนจากเหล่าผู้อาวุโสบนฐานคิดที่มีความเชื่อว่า มนุษย์มีธรรมชาติอันพิเศษ คือ มีความสามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเอง โดยพัฒนามาจากข้างใน แต่มิตินี้ถูกมองข้ามจากคนส่วนใหญ่ที่ให้ความ สำคัญกับการสอนเรื่องข้างนอกเป็นตัวตั้ง โดยขาดความรู้ข้างในตัวเอง ขาดภาวะของการรับรู้ ดังนั้นการจัดการความรู้ในระบบการศึกษาจึงข้าม ขั้นตอนนี้ไป

ทว่าความศักดิ์สิทธิ์ในบทบาท ของความเป็นครูยังเป็นที่ยอมรับของทุกๆ คนในสังคม

“ครูเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา ทุกระบบ” อ.รัชนี ธงไชย ครูใหญ่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กพูด

ในฐานะที่อ.รัชนีคลุกคลีกับเด็กที่ ได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคม เธอคิดว่าความเชื่อของครูเป็นภาวะเสี่ยงต่อการเติบโตที่ถูกต้อง ของเด็ก เช่น การสอนให้เด็กให้ค่านิยมต่อทุนนิยม และวัฒนธรรมบริโภคนิยมอันเป็นวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวของโลก ดังนั้น ครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นครูที่มีชีวิตชีวา ต้องเข้าใจตัวตนและสังคมของเด็ก ตัวตนของสังคม และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม

“กระบวนการศึกษาคือการเรียนรู้เพื่อ การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบต้องเดินไปด้วยกัน” อ.รัชนี พูด

การสร้างครูพันธุ์ใหม่ให้เป็นนักจัดการ การเรียนรู้เพื่อการศึกษาทางเลือกจึงถูกออกแบบขึ้นภายใต้โครงการ “ครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก” จากความร่วมมือของ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และมูลนิธิซิเมนต์ไทย เพื่อสนับสนุนขบวนงานด้านการศึกษาทางเลือก และส่งเสริมให้หนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่นในงานด้านการศึกษาได้ เข้าไปปฏิบัติงานเต็มเวลาใน 18 พื้นที่ทั่วประเทศที่มีการจัดการศึกษาทางเลือกเป็นระยะเวลา 1-2 ปี

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานโครงการครูอาสาฯ อธิบายเป้าหมายของโครงการว่า “ครูคือผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการปฏิรูปในสังคมไทย ครูสายพันธุ์ใหม่ต้องจัดการศึกษาที่พัฒนาทั้งกาย ใจ สติปัญญา ต้องมีเรียนรู้ที่จะข้ามผ่านความกลัว ผ่านชุดความคิดเดิม เราจะเปิดหัวใจของการเรียนรู้ได้อย่างไร เพื่อให้ครูกระแสหลักปรับเปลี่ยนหลักคิดปรัชญาการเรียนรู้ใหม่ใน การบวนการจัดการศึกษา”

เมื่อโครงการผ่านระยะเรียนรู้ของ ครูอาสาฯ รุ่นแรกในเวลา 1 ปี ครูหนุ่มสาวเหล่านั้นได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ทำให้พวก เขาเข้าใจตนเองและเข้าใจคำว่าการเรียนรู้มากขึ้น

อัจฉริยะ ศิริจินดา เด็กหนุ่มศรีสะเกษ จบรัฐศาสตร์ ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตร ไม่มีความรู้เรื่องพันธุ์ข้าวแม้แต่น้อย เขาเลือกจะไปเป็นครูอาสาในศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน ที่นั่นอัจฉริยะได้เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญา พันธุ์ข้าว การปลูกข้าว การแปรรูปข้าว เมล็ดพันธุ์พืชผัก จุลินทรีย์ท้องถิ่น การทำปุ๋ย การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ

“ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัว เองคือความคิด” อัจฉริยะยืนยันอย่างมั่นใจ เขาจะกลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด

มานพ ต๊ะสุ เด็กหนุ่มจังหวัดตากผู้ต่อต้านสังคม ไม่มีความเชื่อในศาสนา ไม่ศรัทธาในพิธีกรรม ดื่มเที่ยวไปวันๆ เอาตนเองเป็นที่ตั้ง แต่ชุดความเชื่อเดียวที่เขาฝันจะทำ คือ การท้าทายตนเองต่อการทำงานพัฒนาคนให้ดีขึ้น อยากรู้ว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้แค่ไหน จะขับเคลื่อนสังคมได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนจะเข้าสมัครเป็นครูอาสาฯ ประจำที่หน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สตูล

มานพทำงานท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตก ต่าง เขาต้องนำกระบวนการวิจัยที่หน่วยงานศึกษาไว้เข้าสู่โรงเรียน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ครู วิธีการคือห้ามไม่ให้ครูสอน แต่เป็นผู้จัดกระบวนการศึกษาให้กับเด็ก

เด็กหนุ่มผู้ต่อต้านสังคมคนเก่าก็ ค่อยๆ เรียนรู้อย่างมานะไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลง

“เราได้รู้ว่าถ้าเราปฏิเสธสังคม เราจะอยู่อย่างลำบาก หลักๆ เมื่อก่อนคือไม่รู้จะตอบกับตัวเองยังไง การทำงานทำให้เราคิดว่าเราอยู่ไม่ได้ด้วยวิธีนี้ เราได้เห็นความลึกซึ้งของวัฒนธรรมที่เป็นกลไกให้ระบบสังคมขับ เคลื่อนการพัฒนา

“ที่สตูลผมมีความสุขกับสิ่งที่ผม ทำอยู่ หลังจากจบโครงการผมจะเอากระบวนการเหล่านี้ไปจับงานที่บ้าน เรียนรู้ และเคลื่อนงานกับชุมชนอย่างคนในไม่ใช่คนนอก” มานพ พูด

ส่วน รจนา พิมชารี มนุษย์เงินเดือนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เลือกอาศรมพลังงาน จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่เรียนรู้ เธอได้ทำงานด้านการพัฒนากระบวนทัศน์สู่วิถีการพึ่งตน เองของคนในชุมชน อาทิ การจัดการพลังงานบนฐานทรัพยากรของชุมชน เช่น การเผาถ่านประหยัดพลังงาน แก้ปัญหาเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรยั่งยืน เกษตรปราณีต

รจนา เปิดใจหลังผ่านประสบการณ์ 1 ปีกับงานที่ประทับใจว่า “การเป็นครูอาสาทำให้ได้รู้จักตัวเอง และงานที่ได้เรียนรู้จากที่อาศรมเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่จะ กลับไปทำที่บ้าน”

ในพื้นที่เมือง เปรมวดี เสรีรักษ์ สาวชาวกรุงเลือกที่จะเข้ามารับบทบาทของความเป็นครู ในโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ผ่านมาเธอค่อนข้างมองชีวิตในความสมบูรณ์แบบ แต่การเรียนรู้ในความเป็นครูอาสาที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่เธอต้องลงมือปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณสมบัติของ “บูรณาการแบบองค์รวม” เพื่อการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง และตอบสนองกับธรรมชาติการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายในการเรียน รู้ของเด็ก ต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทดลองทำ ประเมิน ปรับปรุงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในกระบวนการทำงานเปรมวดีเองก็ได้สัมผัสกับคำว่าการเรียนรู้อย่าง แท้จริง และทำให้เธอได้ทบทวนตัวเองใหม่

“การเรียนรู้ในความผิดพลาดมันดีกว่า การเรียนรู้ในเรื่องที่ดีอยู่แล้ว” เธอเปิดใจต่อความจริงที่ได้พบ

อย่างไรก็ตาม ครูอาสาฯ หนุ่มสาวทั้ง 20 คนในโครงการยอมรับว่า ในความคาดหวังที่โครงการครูอาสาฯ หรือที่อาวุโสทั้งหลายในแวดวงต้องการที่จะให้พวกเขาเกิดชุดความ รู้ แนวคิด และรูปธรรมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นนักจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เข้าใจแนวคิดการศึกษาทางเลือกใน พื้นที่ต่างๆ จนสามารถเชื่อมโยงการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนจนเกิดหลักสูตรท้อง ถิ่นได้นั้น พวกเขายังต้องเสริมสร้างการเรียนรู้ในมิติการศึกษาที่หลากหลาย เข้มข้น และใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ยาวนานกว่า นี้

“การเรียนรู้เบื้องต้นของคน เราจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตร คือผู้บอกที่ดี และอาศัยโยนิโสมนสิการ คือการใคร่ครวญจากภายในของเราเอง นี่คือปรัชญา การสร้างครูและหาวิธีการเรียนการสอนที่ไปให้ถึงจิตวิญญาณ เราไม่ได้พูดถึงการศึกษาแคบๆ อีกต่อไป เราพูดถึงการเรียนรู้ ชีวิตคือการเรียนรู้”

“ครูคือคนสำคัญ เราเชื่อว่าครูสร้างได้” คำแนะนำและการ แสดงความเชื่อมั่นของ อ.ประภาภัทร

ด้าน อ.ชาญชัย ได้ให้คติและย้ำถึงหลักสำคัญในสร้างครูทางเลือกว่า “เราสนใจการเปลี่ยนแปลงข้างในมากกว่าข้างนอก ส่วนเขาเป็นคนที่จะต้องออกไปเปลี่ยนแปลงข้างนอก ครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่โยนไปที่ไหน ไม่มีงบ ไม่มีน้ำ แห้งแล้ง แต่ยังไงก็งอกได้”

เขียนโดย แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา
วันอาทิตย์ ที่ 27 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2553

ที่มา http://www.thaivolunteer.or.th/thaivo/index.php?option=com_content&task=…