แอ้เกอะลื่อตอ

 

ในค่ายผู้ลี้ภัย คำถามแรกที่เรามักจะถามกับเพื่อนผู้ลี้ภัยที่เพิ่งรู้จักกันคือ “คุณเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ด้วยเหตุผลอะไร” ครั้งหนึ่งอาจารย์สอนศาสนาที่ผมเพิ่งรู้จักได้ถามคำถามนี้กับผมเช่นกัน

 

“ผมเคยเป็นทหาร” ผมตอบ

 

“ผมก็อยากจะเป็นทหารเหมือนกัน” อาจารย์สอนศาสนามองหน้าผมแล้วยิ้ม “แต่พอได้ยินเสียงปืนเมื่อไหร่ผมก็ตกใจกลัว ผมเลยตัดสินใจทำงานรับใช้พระเจ้า แต่ใครจะไปรู้ละว่าพื้นที่ที่ผมต้องไปทำงานสอนศาสนา จะเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบ บางคืนผมได้ยินเสียงปืนดังต่อเนื่องจนนอนไม่หลับ” เล่าถึงตรงนี้รอยยิ้มของอาจารย์สอนศาสนาก็หายไปจากใบหน้า

 

“หมู่บ้านที่ผมไปทำงานเป็นเส้นทางเดินทัพของกองทัพพม่า คนที่นั่นจึงถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบอาวุธและเสบียงให้แก่ทหารอยู่บ้างแต่ไม่บ่อย พวกทหารกองทัพพม่าจะชอบเข้ามาเกณฑ์ลูกหาบในวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันที่ชาวบ้านทุกคนหยุดงานในไร่สวนเพื่อมานมัสการพระเจ้าที่โบสถ์ ถ้าคนไหนหลบหนีการเกณฑ์ลูกหาบ ทหารกองทัพพม่าก็จะใช้วิธีจับลูกของพวกเขาไป แล้วให้พ่อแม่ไปไถ่คืนด้วยการเป็นลูกหาบ

 

แต่เมื่อการสู้รบในพื้นที่รุนแรงขึ้น กองทัพพม่าก็ต้องการลูกหาบในการขนส่งอาวุธและเสบียงมากขึ้น วันหนึ่งพวกเขาเข้ามาในหมู่บ้านและประกาศว่าชาวบ้านที่เป็นผู้ชายทุกคนรวมถึงผม จะต้องพลัดเวรกันไปเป็นลูกหาบ คนละสี่ครั้งต่อเดือน ถ้าใครไปไม่ได้ก็ต้องจ้างคนอื่นไปแทน แต่ถ้าใครหายไปโดยไม่มีตัวแทน จะต้องรับโทษถึงหนักถึงตาย

 

ค่าจ้างคนไปเป็นลูกหาบแทนตัวเองนั้นสูงถึง 300,000 จ๊าดต่อครั้ง คนทำงานด้านศาสนาอย่างผมจะเอาปัญญาที่ไหนไปหาเงินมากขนาดนั้น ถึงจะกลัวลูกกระสุนปืนแค่ไหน แต่ทุกอาทิตย์ผมต้องทำใจกล้าออกไปเป็นลูกหาบ
การเดินทางแต่ละครั้งจะมีลูกหาบอยู่ร้อยกว่าคน เราจะถูกจัดเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกต้องเดินนำหน้าทหารกองทัพพม่า ส่วนกลุ่มที่สองจะตามท้าย ที่ต้องมีลูกหาบนำหน้าเพราะว่าตลอดเส้นทางนั้นมีกับระเบิดที่กองทัพชาติพันธุ์ซึ่งเป็นศัตรูกับกองทัพพม่าวางเอาไว้ ลูกหาบที่เดินนำหน้าจึงต้องทำหน้าที่ “ตาย” ก่อนทหารหากเจอกับระเบิด

 

ตอนที่ผมไปเข้าเวรเป็นลูกหาบครั้งที่สอง คราวนั้นผมต้องแบกข้าวสาร 1 กระสอบ ผมยังจำได้ว่าอากาศวันนั้นร้อนแค่ไหน แต่ในใจของผมร้อนยิ่งกว่า อยากจะเดินไปถึงที่หมายของทหารกองทัพพม่าให้เร็วที่สุด เพราะเมื่อเรายังเดินอยู่ เราก็เสี่ยงต่อการเหยียบกับระเบิดทุกก้าว

 

ยิ่งเดินไกลขึ้น ผมยิ่งเหนื่อย ตอนนั้นผมหิวน้ำจนแสบคอเหมือนมีน้ำเดือดไหลอยู่ข้างใน หัวของผมปวดแทบจะระเบิด ตอนนั้นเองมีเสียงระเบิดดังขึ้น ผมหมอบลงทันที เมื่อเสียงนั่นสงบผมจึงยกมือขึ้นลูบหน้าลูบตาที่มีแต่เขม่าของระเบิด ผมได้ยินเสียงเพื่อนที่เดินนำหน้าร้องด้วยความเจ็บปวด เขานอนหมอบอยู่กับพื้นท่าเดียวกับผม แต่ขาของเขาหายไปข้างหนึ่ง

 

ผมลุกขึ้นตั้งใจจะเข้าไปช่วยเพื่อน แต่ทหารกองทัพพม่าที่เดินตามผมมา บอกให้ผมแบกของขึ้นหลังแล้วรีบเดินต่อ ผมจึงจำใจทิ้งเพื่อนที่เหยียบกับระเบิด ตอนนั้นผมถามตัวเองว่า… คนที่เหยียบกับระเบิดคราวหน้าจะเป็นใคร

 

หลังเสร็จจากการเดินทางคราวนั้น ผมก็รีบกลับบ้านแล้วเล่าเรื่องที่ได้เจอให้เมียและลูกทั้ง 3 คนฟัง ผมกลัวว่าถ้าครั้งหน้าคนที่เหยียบกับระเบิดเป็นผม อนาคตของลูก ๆ ของผมจะเป็นยังไง ใครจะทำงานหาเงินให้พวกเขาเรียนหนังสือ พวกเราจึงตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย แล้วเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจนถึงทุกวันนี้”

 

ลูกหาบหลายคนไม่โชคดีเหมือนอาจารย์สอนศาสนาคนนี้ ที่รอดตายจากการเหยียบกับระเบิด และหนีมายังเมืองไทยได้อย่างปลอดภัย เมื่อการสู้รบในพม่ายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ผู้คนมากมายจึงยังถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ ที่ต้องเสี่ยงชีวิตกับกระสุนปืนและกับระเบิด พวกเขาคงเฝ้าถามตัวเองว่า คนที่เหยียบกับระเบิดคราวหน้าจะเป็นใคร

 

 


ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202
โทรศัพท์ 053-805-298
โทรสาร 053-805-298
E-mail borders@chmai2.loxinfo.co.th