วันนี้เป็นวันครบรอบ 1 เดือน การเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี ของประเทศเนปาลนะคะ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเนปาล ที่อาศัยอยู่ในเขตศูนย์กลางแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในเมืองกาฐมัณฑุซึ่งเป็นเมืองหลวงที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และทำให้โบราณสถานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้รับความเสียหายไปหลายแห่ง รวมถึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 8 พันคน และผู้บาดเจ็บมากมายในเหตุการณ์ครั้งนี้
นอกจากความช่วยเหลือในรูปแบบเงินบริจาคที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย พยายามระดมทุนส่งไปให้ในช่วงต้นของเหตุการณ์แล้ว การช่วยเหลือในรูปแบบ “งานอาสาสมัคร” ก็เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการช่วยหลือเหตุการณ์ครั้งนี้เช่นกันค่ะ
หลักการสำคัญในการทำ “งานอาสาสมัครในภัยพิบัติ” หรือ Volunteer in Disaster ตามแนวคิดของ United Nation Volunteer (UNV) ได้กำหนดบทบาทอาสาสมัครในการทำงานภัยพิบัติไว้ 4 ระดับ คือ
1.) งานป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
(Prevention and Mitigation Stage)
2.) งานเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ
(Preparedness Stage)
3.) งานตอบสนองในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ
(Response and Relief Stage)
4.) งานฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ
(Recovery Stage)
ซึ่งในสัปดาห์นี้ เครือข่ายจิตอาสาจะขอนำข้อมูลเหล่านี้มานำเสนอพร้อมกรณีศึกษางานอาสาสมัคร ให้ทุกคนได้เรียนรู้กันค่ะ
————————–————————–————————–
บทบาทอาสาสมัครกับงานป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ
(Prevention and Mitigation Stage)
**กรณีศึกษา “อาสาสมัครเยาวชนนักอุตุนิยมวิทยา” ในประเทศจีน**
กระบวนการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สามารถลดระดับความรุนแรงของภัยพิบัติได้นะคะ แต่คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกิดภัยพิบัติ ยังมีความตระหนักต่อเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป วิธีการป้องกันภัยพิบัติส่วนมาก มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่มีน้ำป่าไหลหลาก เพื่อลดอัตราความเร็วของน้ำบนภูเขาหากมีฝนตกต่อเนื่องหรือช่วยป้องกันไม่ให้เกิดดินถล่มหลังจากถูกกัดเซาะจากพายุฝน นอกจากนั้น การสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในท้องถิ่นเรื่องการทำนายสภาพอากาศและความรู้เรื่องอุตุนิยมวิทยา ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนในพื้นที่ สามารถเตรียมรับมือกับภัยพิบัติได้เช่นกัน
โครงการอาสาสมัครเยาวชนนักอุตุนิยมวิทยาของประเทศจีน ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีการสื่อสารแห่งเมืองเฉินตู ร่วมกับสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน สมาพันธ์กลางแห่งยุวชนจีน และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน รวมถึงเครือข่ายวิทยาลัยอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน โดยจะนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาอุตุนิยมวิทยา ลงไปในพื้นที่ชนบทของจีน เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ โดยครูและนักเรียนกว่า 2 พันคนที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ จะแบ่งออกเป็น 200 ทีม และออกเดินทางไปทั่วประเทศเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเผยแพร่ความรู้
ระหว่าง 1 เดือนนี้ อาสาสมัครจะลงไปทำกิจกรรมการเรียนรู้ ผ่านเกมส์ วีดีทัศน์และการเล่นทายคำ ที่ออกแบบตามลักษณะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นภายในแต่ละพื้นที่ อาสาสมัครจะเผยแพร่ความรู้เรื่องการเตือนภัยและป้องกันภัย พิบัติทางอุตุนิยมวิทยา เช่น พายุฝน คลื่นความเย็น พายุลม พายุฝุ่น ความร้อน ความแห้งแล้ง พายุฝนฟ้าคะนอง เช่นเดียวกับความรู้เรื่องภัยพิบัติขั้นทุติยภูมิ เช่น แผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากไปสู่ชนบท โรงเรียนและเหมืองแร่
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา อาสาสมัครหลายหมื่นคนที่เรียนในด้านอุตุนิยมวิทยา ได้ลงไปทำงานในชนบทของประเทศและเผยแพร่ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาให้แพร่หลายมากขึ้น กิจกรรมอาสาสมัครที่ทำมาอย่างต่อเนื่องนี้ ยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมายจากรัฐบาล และยังเป็นการสร้างพื้นที่ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจริง และมีส่วนร่วมกับการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการรับใช้สังคมอีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.cma.gov.cn/en/NewsReleases/News/201307/t20130715_219733.html