สองสามวันหลังกรณีตากใบซึ่งจบลงด้วยความตายของผู้ชุมนุม ๗๙ คนบนรถบรรทุกระหว่างถูกลำเลียงไปยังค่ายทหาร ข้าพเจ้าได้พบกับมิตรผู้หนึ่งซึ่งจู่ ๆ ก็พูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับแสดงความเห็นว่า “น่าจะตายมากกว่านี้”
ความรู้สึกอย่างแรกที่เกิดกับข้าพเจ้าคือประหลาดใจ เนื่องจากมิตรผู้นั้นไม่เพียงสนใจการปฏิบัติธรรมเท่านั้น หากยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงชวนคนมาทำกรรมฐาน ถึงกับตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมบนที่ดินของตน ส่วนการให้ทานรักษาศีล เขาก็บำเพ็ญอย่างแข็งขัน
ข้าพเจ้าคาดไม่ถึงว่ามิตรผู้นี้จะมีความคิดเช่นนั้น ก็เนื่องจากคาดหวังว่าผู้ที่ใฝ่ศีลใฝ่ธรรมน่าจะมีเมตตากรุณามากกว่าคนทั่ว ไป แม้จะไม่ถึงกับมีความเอื้ออาทรต่อมนุษย์ทั้งปวง แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรยินดีในความตายของผู้อื่น แม้จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเขาก็ตาม
เมื่อความตายเกิดกับใครก็ตาม นั่นมิใช่สิ่งที่พึงยินดีในทัศนะของชาวพุทธ เพราะความตายนั้นตัดรอนโอกาสที่บุคคลจะได้ทำความดี แม้เขาจะทำความเลวมามาก แต่ทุกคนก็สามารถหวนกลับมาทำความดีได้เสมอตราบใดที่เขายังมีลมหายใจ ใช่แต่เท่านั้นความตายของเขา ยังหมายถึงความทุกข์ของผู้คนอีกมากมาย เพราะเขามีพ่อแม่ญาติพี่น้องคนรักและลูกหลานที่ไม่เพียงเศร้าโศกเสียใจเพราะ การจากไปของเขาเท่านั้น แต่อนาคตของหลายคนอาจดับวูบลงเพราะไม่มีใครให้พึ่งพาอาศัยอีกต่อไป
คนทั่วไปนั้นย่อมคิดนึกไปตามอำนาจของอารมณ์และอคติ แต่นั่นมิใช่วิสัยของผู้ประพฤติธรรม แม้จะมีความโกรธเกลียดชิงชังเกิดขึ้นในใจอันเป็นธรรมดาของปุถุชน แต่การทำสมาธิภาวนาน่าจะช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ดังกล่าว ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ จนรู้สึกสะใจเมื่อเห็นความพินาศของคนอื่น หรือเห็นดีเห็นงามไปกับการทำร้ายผู้อื่น อย่างน้อยก็ยังควรมีสำนึกในความถูกต้องเที่ยงธรรม ไม่เบี่ยงเบนผันแปรตามความชอบหรือชัง อย่าว่าแต่ผู้ชุมนุมประท้วงเลย แม้เป็นอาชญากรก็ไม่สมควรตายเพราะถูกวางซ้อนทับหลายชั้นราวกับสิ่งของจนขาด ใจตายในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับเขา แต่เขาก็ควรได้รับสิทธิพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมมิใช่หรือ
ข้าพเจ้าพบในเวลาต่อมาว่า มิตรผู้นั้นมิใช่กรณียกเว้น ชาวพุทธที่เป็นนักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยก็มีความรู้สึกนึกคิดในทำนองเดียว กับเขา ทำให้ข้าพเจ้าอดสงสัยใจไม่ได้ว่าเหตุใดการปฏิบัติธรรมจึงไม่ช่วยให้เขามี เมตตากรุณาหรือมีสำนึกในความถูกต้องเที่ยงธรรมมากกว่าคนทั่วไป มีความผิดพลาดตรงไหนจึงทำให้เขาไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่ยินดีในความตายของ ผู้คนทั้ง ๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธหรือนักปฏิบัติธรรม
อย่าว่าแต่คนที่คิดต่างจากเรา หรือทำสิ่งที่ไม่ถูกใจเราเลย แม้กระทั่งคนที่มุ่งร้ายต่อเรา หรือเบียดเบียนเรา วิสัยของชาวพุทธคือ นอกจากจะไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงแล้ว ยังมิพึงโกรธตอบหรือสาปแช่งให้เขาได้รับความฉิบหาย หากยังทำยิ่งกว่านั้นคือแผ่เมตตาให้เขา ตั้งจิตปรารถนาดีต่อเขา ดังมีพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีจิตคิดร้ายแม้ในโจรพวกนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น แม้ในข้อนั้นเธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์เป็นมหัคคตา ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า อันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่”
เมตตาของชาวพุทธคือเมตตาที่ไม่มีประมาณ ไม่แบ่งแยก แผ่กว้างไปยังสรรพสัตว์ ไม่เลือกว่าเป็นมิตรหรืออมิตร เป็นผู้มีบุญคุณหรือผู้ประทุษร้าย เป็นพวกเราหรือพวกเขา ในชาดกมีเรื่องราวมากมายที่แสดงถึงเมตตาอันไม่มีประมาณดังกล่าว อาทิ มหากปิชาดก เป็นเรื่องของพญาวานรที่ช่วยพราหมณ์ผู้หนึ่งพาขึ้นมาจากซอกเขา แต่ถูกพราหมณ์ลอบทำร้ายเพื่อหวังเอาเนื้อมาเป็นอาหาร แม้กระนั้นพญาวานรก็ไม่โกรธ หากยังตั้งจิตปรารถนาดีต่อพราหมณ์ผู้นั้นว่า “ขอท่านอย่าประสบเวทนาอันเผ็ดร้อนเลย ขอบาปธรรมอย่าได้ฆ่าท่านเหมือนขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่เลย” ใช่แต่เท่านั้น พญาวานรยังคงอาสาพาพราหมณ์ผู้นั้นเดินออกจากป่าดังที่รับปากไว้ โดยให้พราหมณ์เดินทิ้งระยะห่างจากพญาวานรเพื่อความปลอดภัย จนสามารถออกจากป่าได้ในที่สุด
จริงอยู่เมตตาอย่างไม่มีประมาณดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็ควรถือเป็นอุดมคติที่ชาวพุทธทั้งหลายโดยเฉพาะผู้ใฝ่ธรรมเพียรไปให้ถึง หรือเข้าใกล้ให้ได้มากที่สุด แม้ยังทำไม่ได้ เพราะพ่ายแพ้ต่อความโกรธเกลียด แต่อย่างน้อยก็ควรรู้ว่าการพูดและทำด้วยความโกรธเกลียด หรือสะใจในความพินาศของผู้อื่นนั้น มิใช่วิสัยของชาวพุทธ มันมิใช่เป็นโทษแก่ผู้อื่นเท่านั้น หากยังเป็นโทษต่อเราเองด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เราเป็นทุกข์ ร้อนรุ่มใจแล้ว มันยังทำให้จิตใจเราแข็งกระด้าง เย็นชาต่อความทุกข์ของผู้อื่น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ยิ่งยินดีในความพินาศของผู้อื่นมากเท่าไร ความเป็นมนุษย์ในใจเราก็จะยิ่งเหลือน้อยลง
ควรย้ำในที่นี้ว่าเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณนั้นมิได้หมายความว่า ไม่ต้องแยกแยะระหว่างคนถูกกับคนผิด หรือระหว่างความถูกกับความผิด ทั้งคนถูกและคนผิดสมควรได้รับความเมตตาจากเราในฐานะชาวพุทธผู้เจริญรอยตาม บาทพระศาสดาก็จริง แต่หากใครจะได้รับโทษโดยสมควรแก่ความผิดของเขา ก็เป็นเรื่องที่เราพึงวางใจเป็นอุเบกขา ไม่ควรขวางกั้นกระบวนการดังกล่าว แต่หากมีอะไรที่เราสามารถช่วยเหลือเขาได้ในระหว่างที่รับโทษทัณฑ์ก็สมควรทำ ในฐานะเพื่อนมนุษย์
สำนึกในความถูกต้องไม่ควรถูกเบี่ยงเบนโดยเมตตากรุณาที่เจืออคติ (เช่นฉันทาคติ) จนกลายเป็นการช่วยเหลือคนผิดในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่ต้องระวังไม่น้อยกว่ากันก็คือความยึดมั่นในความถูกต้องจนขาดเมตตา กรุณา เช่น ยึดติดกับความถูกความผิดจนเห็นคนผิดมิใช่มนุษย์ ดังนั้นจึงไม่สมควรได้รับความเมตตากรุณาจากเรา
ชาวพุทธที่เคร่งครัดในความถูกต้องทางศีลธรรมมีจำนวนไม่น้อยที่พลัดตกในกับ ดักดังกล่าว ผลก็คือไม่เพียงยินดีที่เห็นความตายของคนผิดคนเลว(ในสายตาของเขา)เท่านั้น หากยังไม่รู้สึกรู้สาเมื่อคนเหล่านั้นถูกกระทำด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง จะว่าไปแล้วทัศนคติดังกล่าวแพร่หลายแม้กระทั่งในหมู่คนทั่วไป จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจนิยมทางศีลธรรม” นั่นคือมีทัศนะว่า “คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์” กล่าวคือไม่มีสิทธิเรียกร้องความยุติธรรม ไม่มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ แม้แต่สิทธิในชีวิตของตนก็ไม่สมควรมีด้วยซ้ำ ดังนั้นใครจะทำอะไรกับเขาก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมาย หลักนิติธรรม หรือกระบวนการยุติธรรมใด ๆ
ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อได้ยินว่าผู้ต้องหาฆ่าข่ม ขืนถูกประชาชนรุมประชาทัณฑ์จนสลบหรือถึงตายระหว่างไปทำแผนประกอบคดี โดยหลายคนที่ร่วมประชาทัณฑ์นั้นหาได้รู้สึกผิดไม่ ทำนองเดียวกันเมื่อนักโทษก่อการชุมนุมประท้วงเพราะทนกับสภาพเลวร้ายในคุกไม่ ได้ ประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นเรื่องสมควรแล้วหากผู้นำการชุมนุมจะถูกเจ้า หน้าที่ยิงตาย(หรือตายอย่างเป็นปริศนา) ทั้ง ๆ ที่มีการยอมจำนนแล้ว วิสามัญฆาตกรรรมกลายเป็นพฤติกรรมที่ประชาชนคุ้นชินและแอบสนับสนุนอยู่ในใจ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผู้ตายนั้นถูกฆ่าโดยไม่ได้ยิงสู้กับตำรวจแม้แต่นัดเดียว เพราะเห็นว่า “มัน”เป็นโจร นว่าิภาวนาน่าจะช่วยให้เรลังก์ไม่คนบริสุทธิ์วลาต่อมาก็ยังไงก็สมควรตายอยู่ ดี ด้วยเหตุผลเดียวกันประชาชนทั้งประเทศจึงสรรเสริญรัฐบาลทักษิณเมื่อมีการ “ฆ่าตัดตอน”ผู้ค้ายาขนานใหญ่จนมีคนตายถึง ๒,๕๐๐ คนในชั่วเวลาไม่กี่เดือน
ทัศนคติที่ว่า “คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์” จึงกลายเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตกับคนที่ถูกมองว่าทำผิด ศีลธรรมหรือผิดกฎหมาย แม้ว่าความรุนแรงดังกล่าวทำไปในนามของความถูกต้อง แต่กลับกลายเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเสียเอง อีกทั้งยังขาดความเที่ยงธรรมเพราะเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยผู้เป็น เหยื่อไม่มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง หรือได้รับโทษทัณฑ์ตามสมควรแก่ความผิด
ทัศนคติดังกล่าวนับวันจะผลักดันสังคมไทยไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงขั้นชักนำให้คนไทยต้องเข่นฆ่ากันเอง ดังเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา การมองว่าคนเสื้อแดงทำผิดกฎหมาย รับจ้างมาปกป้องคนผิดที่โกงบ้านโกงเมือง รวมทั้งมีกองกำลังติดอาวุธ ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องการล้มเจ้าฯลฯ ทำให้ผู้คนจำนวนมาก (รวมทั้งผู้ยึดมั่นในความถูกต้อง)พิพากษาในใจว่าคนเสื้อแดงสมควรตาย และดังนั้นจึงไม่รู้สึกอะไรเมื่อเห็นทหารใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมจนมีคน ล้มตายกว่า ๘๐ คน ไม่นับบาดเจ็บอีกนับพันคน จริงอยู่มีผู้ชุมนุมบางคนที่ขว้างประทัดและระเบิดเพลิงใส่เจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่สมควรที่ถูกตอบโต้ด้วยอาวุธสงครามจนถึงแก่ความตาย และถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมถูกยิงตายขณะใช้อาวุธปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ความตายของบุคคลเหล่านั้นก็มิใช่เรื่องที่น่ายินดีแต่อย่างใด เพราะนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมญาติมิตรของผู้สูญเสียแล้ว มันยังกัดกร่อนจิตวิญญาณหรือมโนธรรมสำนึกของเราอีกด้วย
ถึงจะทำผิดศีลธรรมหรือผิดกฎหมาย เขาก็มีสิทธิในชีวิตของเขา มีสิทธิได้รับความยุติธรรมและการคุ้มครองตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิได้รับความเมตตาจากเรา เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์ ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายถูกเพียงใด ก็ไม่มีสิทธิทำอะไรกับเขาตามอำเภอใจ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็จำต้องถามตัวเองด้วยว่า แน่ใจอย่างไรว่าเราถูกและเขาผิด ผู้ที่รุมฆ่าและทำร้ายนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ล้วนทำไปด้วยความเข้าใจว่าตนกำลังปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่บัดนี้ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นฆาตกรโหดเหี้ยมที่สร้างความ อัปยศให้แก่ประเทศชาติ ในทางตรงข้ามผู้ที่ถูกทำร้ายเหล่านั้นล้วนเป็นคนบริสุทธิ์ หาใช่ผู้คิดร้ายต่อชาติและราชบัลลังก์ไม่
ความคิดว่า “คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์” ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อประเทศชาติและเพื่อนร่วมชาติเท่านั้น หากยังสามารถย้อนกลับมาทำร้ายเราเองได้ในภายหลัง ใครจะไปรู้ว่าสักวันหนึ่งเราอาจกลายเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงตาม อำเภอใจในนามของความถูกต้องก็ได้ หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างมากระหว่างการสนับสนุน นโยบายฆ่าตัดตอนของรัฐบาลทักษิณเมื่อ ๗ ปีก่อน กับการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับคนเสื้อแดงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองกรณีนอกจากเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังมีปัจจัยร่วมอีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ทัศนคติที่ว่า “คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์” หรือ “คนผิดสมควรตาย” คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าการสนับสนุนนโยบายฆ่าตัดตอนมีส่วนในการส่งเสริมให้ใช้ ความรุนแรงกับคนเสื้อแดง แต่ความจริงที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือ กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลทักษิณอย่างแข็งขันคือ กลุ่มคนเสื้อแดงนั่นเอง (ข้อมูลจากการวิจัยของดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย เมื่อเร็ว ๆ นี้) ใช่หรือไม่ว่าการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวคือการตอกย้ำความเชื่อว่า “คนผิดสมควรตาย” ซึ่งในที่สุดได้ย้อนกลับมาทำร้ายคนเสื้อแดงเอง
คนเสื้อแดงไม่ใช่เหยื่อรายสุดท้ายของทัศนคติดังกล่าว ยังจะมีเหยื่อรายอื่น ๆ ตามมาอีกตราบใดที่เรายังปล่อยให้ทัศนคติดังกล่าวแพร่หลายในสังคมไทย
บ้านเมืองยากที่จะสงบสุขจนกว่าเราจะเห็นว่าคนผิดหรือคนที่คิดต่างจากเรานั้น มีความเป็นมนุษย์ที่สมควรได้รับความเมตตาและความยุติธรรมจากเรา สำหรับชาวพุทธ ทัศนคติดังกล่าวคือสิ่งหนึ่งที่ชี้วัดว่าการปฏิบัติธรรมของตนก้าวหน้ามาก น้อยเพียงใด
มติชนรายวัน วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
พระไพศาล วิสาโล
ที่มา http://www.visalo.org/article/matichon255308.html