Money Pro : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFPTM กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) ได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่องการสอนค่านิยมเกี่ยวกับสันติและความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน สำหรับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ขึ้นเมื่อปี 2004 หรือ 6 ปีที่แล้ว เชื่อว่า ณ ขณะนั้น คนในประเทศเราไม่ได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร เพราะคิดว่าเรามีสันติ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว

ผู้แทนประเทศไทย คือ ดร. วไล ณ ป้อมเพ็ชร ได้กล่าวในที่สัมมนาถึงการใช้หลักศาสนาพุทธในการสร้างสันติและความกลมเกลียว โดยส่วนหนึ่ง คือ พรหมวิหาร 4 ซึ่งประกอบด้วย เมตตา หรือ การอยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ กรุณา หรือการอยากให้ผู้อื่นมีความสุข มุทิตา หรือการยินดีในความสุขของผู้อื่น และ อุเบกขา คือ การทำใจเป็นกลาง ซึ่งมีการสอนอยู่ในโรงเรียน

แต่เมื่อสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนไป เราน่าจะได้เรียนรู้จากบทเรียนของประเทศอื่น และดิฉันเห็นว่าสิ่งที่ผู้แทนชาวญี่ปุ่น คือ คุณอกิฮิโร ชิบะ (Akihiro Chiba) เสนอไว้ในการสัมมนานั้น น่าสนใจที่จะนำมาเผยแพร่และนำมาเป็นบทเรียนสำหรับคนไทยในปัจจุบันค่ะ

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นต้องบูรณะประเทศและสร้างความกลมเกลียว ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข เขาจึงเริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่จะ “สร้างประเทศและสังคมแบบประชาธิปไตยที่มีความสงบสุข” โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างคุณสมบัติหรือความดีงามหลักๆ คือ 1. ความรักในความจริงและความยุติธรรม 2. ความเคารพในคุณค่าของบุคคลแต่ละคน หรือที่เรียกว่าความเป็นปัจเจกชน 3. ความสำคัญของงานและความรับผิดชอบ 4. ส่งเสริมการมีความรักอิสรภาพ และ 5. การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง

ญี่ปุ่นมองว่าเป้าหมายเหล่านี้ จะนำไปสู่สันติสุขและประชาธิปไตย โดยได้สร้างและนำเป้าหมายและคุณค่าเหล่านี้เข้าไปใช้ในการศึกษาตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมี คุณสมบัติที่เขาเน้นให้มีในคนญี่ปุ่นและเด็กญี่ปุ่น คือ การสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ความเคารพในอิสรภาพและความรับผิดชอบ ความฉลาดในด้านความคิดวิเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ ความจริงใจและซื่อสัตย์ ความยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและความกล้าหาญ การเดินสายกลางและการควบคุมตนเอง ความเชื่อมั่นและการกระทำของตนเอง ความขยันขันแข็ง ความกระตือรือร้นที่จะถาม ความคิดสร้างสรรค์ การถ่อมตัว และการทุ่มเท

ทั้งนี้ ยังมีการเน้น คุณสมบัติทางด้านจริยธรรมทางสังคม 12 อย่าง คือ การมีจิตใจดี การรักษาชื่อเสียง ความอดทน ความร่วมมือ มีความรับผิดชอบ ความเสมอภาคและยุติธรรม ความมีวินัย การเคารพกฎหมาย การเคารพในสิทธิและหน้าที่ ความซื่อสัตย์และจงรักภักดี ความรักในความสงบ และแน่วแน่ต่อการต้องการให้มนุษยชาติมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในปี 1998 ญี่ปุ่นได้ปรับปรุงและทำให้เป้าหมายทางการศึกษาศีลธรรมเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายหลัก คือ 1. เพื่อส่งเสริมการเคารพในมนุษย์และชีวิตของมนุษย์ 2. เพื่อส่งเสริมและเพิ่มความเป็นมนุษย์ในจิตใจ 3. สนับสนุนและส่งเสริมให้คนสามารถนำวัฒนธรรมมาปรับปรุง พัฒนาและสร้างวัฒนธรรมที่เป็นของตนเองได้

4. สร้างคนที่จะพยายามสร้างและพัฒนาสังคมและประเทศประชาธิปไตย 5. สร้างคนที่จะสามารถช่วยสร้างสันติในนานาชาติ 6. สร้างคนญี่ปุ่นที่สามารถจะมีบทบาทในอนาคต และ 7. สร้างเสริมศีลธรรมที่ดีงาม

ทั้งนี้ เขาได้ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และพยายามสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีคุณสมบัติในการเรียนรู้และคิดอย่างอิสระ มีการใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระ มีการดำเนินการ และมีการปรับปรุงการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ต้องมีความเป็นมนุษยชาติสูง มีความแน่วแน่ที่จะมีวินัย และแน่วแน่ที่จะให้ความร่วมมือกับผู้อื่น มีจิตใจที่อ่อนโยน คิดถึงคนอื่น แบ่งปันความสุขและความรักให้ผู้อื่น และมีความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจที่จะมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแรง รักสันติ ความกลมเกลียว และปฏิเสธความรุนแรง

จะเห็นว่าค่านิยมและการปรับปรุงแนวทางการให้การศึกษากับเยาวชน ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัยด้วย ถ้าวิเคราะห์ดูจะเห็นว่า เป้าหมายล่าสุดที่ปรับปรุงในปี 1998 นั้น ญี่ปุ่นพยายามป้องกันปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น จึงพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน

ไทยเราก็เช่นกันค่ะ เมื่อคนในชาติแตกสามัคคี เราก็ต้องพยายามสร้างค่านิยมเรื่องความสมานฉันท์ ดิฉันเห็นว่า ค่านิยมและมาตรการที่ญี่ปุ่นใช้ในช่วงหลังสงครามโลก เป็นสิ่งที่ไทยเราควรจะนำมาพิจารณาปฏิบัติบ้างคะ

สงบ สันติ สามัคคี

โดย สุรักษ์ สุขเสวี

ไม่ลืมรสชาติของ ความพ่ายแพ้

จดจำรอยแผล วันที่คนไทยหัวใจสลาย

บนทางที่แตกต่างสี ที่ทุกคนทำใจไม่ได้

น่าเศร้าใจที่เห็นคนไทย ไม่รักกัน

กลับมาทบทวน กันดูสักครั้ง

บทเรียนเบื้องหลังได้สอนอะไร เรามากกว่านั้น

เราลองวาง ปมปัญหาหันหน้ามาแล้วพูดจากัน

หนทางเดียว จะช่วยให้ผ่านให้พ้นไป

*สู่ ความสงบสันติสามัคคี

ร่วมใจ กันทำความดีถวายพ่อหลวงของไทย

หล่อหลอม เป็นใจเดียวกัน มาสร้างสรรค์ทางเลือกกันใหม่

อยากเห็นคนไทยรักกันได้อย่าง เดิม

ที่มา: http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2010q2/2010June14p3.htm