คุณบุณิกา จันทร์เกตุ
ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ. สงขลา
ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุในปัจจุบัน เป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมโดยทั่วไป มีค่านิยมที่ให้ความสำคัญ ในการแสวงหาเงินทอง แสวงหาอำนาจ บารมี มากกว่าที่จะให้ความสำคัญทางด้านจิตใจ สังคมในปัจจุบันจึงกลับเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดเจนปัญหาต่าง ๆ ที่มีมากมาย ดังนั้นการปลูกฝังความสำนึก ให้กับบุคคล เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมจึงควรที่จะเกิดขึ้นในสังคม ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบัน จึงมีการกล่าวถึงคำว่า “จิตสาธารณะ” เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากกว่าตนเอง นั่นหมายถึงว่า ทุกคนต้องมีการให้ มากกว่า การรับ เพราะสิ่งเหล่านี้ ถ้าสามารถปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักสังคมย่อมได้รับแต่ความสุขอย่าง แน่นอน คำว่า “จิตสาธารณะ” จึงมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยส่วนรวมการปลูกฝังความสำนึก กับบุคคลต่าง ๆ ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมหรือสาธารณะ จะเป็นการสร้างคุณธรรมจริยธรรม ให้เกิดขึ้นกับบุคคลโดยทั่วไป โดยเฉพาะ เด็กและเยาวชน รวมทั้ง ประชาชนทั่วไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากภายในกายของคน “จิตสาธารณะ” เป็นความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนรู้จัก การเสียสละ การร่วมแรงร่วมใจร่วมมือในการทำประโยชน์ เพื่อสังคมและส่วนรวม อีกทั้งจะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคม การช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิต อันจะเป็นหลักการในการดำเนินชีวิต เป็นการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขกับสังคมอย่างได้ผลเป็นเชิงประจักษ์ได้
พจนานุกรมไทยฉบับของราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 14 ปรับปรุง-เพิ่มเติมใหม่) พ.ศ. 2537 ได้ให้ความหมายของ
จิตสาธารณะ ไว้ดังนี้
จิต (จิด) น. มีความหมายว่า ใจ, ความรู้สึกนึกคิด
สาธารณ (สา-ทา-ระ-นะ) หรือ สาธารณะ มีความหมายว่า ทั่วไป, เป็นของกลางสำหรับส่วนรวม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของ จิตสาธารณะ ว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อ ประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัดและมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
จากความหมายดังกล่าวพอสรุปได้ว่า “จิตสาธารณะ” หมายถึง “ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นส่วนรวม” หรือพูดและฟังได้ง่าย ๆ ว่า“การตระหนักรู้ และคำนึงถึงการมีส่วนรวมร่วมกัน การตระหนักรู้ตน ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่มีความสัมพันธ์ที่เป็นสังคมเดียวกัน เป็นการแสดงออกเพื่อสังคมส่วนรวม การบริการชุมชน การทำประโยชน์เพื่อสังคม ถ้าเป็นวัตถุหรือสิ่งของทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้”
ดังนั้นจิตสาธารณะ จึงเปรียบได้กับความรู้สึกนึกคิด ถึงการเป็นเจ้าของในสิ่งทีเป็นสาธารณะร่วมกัน การใช้สิทธิและหน้าที่ที่จะดูแล รวมทั้งการบำรุงรักษาสิ่งของที่เป็นของส่วนรวมร่วมกันเช่น การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทิ้งขยะลงที่พื้นทั่วไปต้องทิ้งขยะใน ที่จัดไว้ให้ ไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ การดูแลรักษาสาธารณะสมบัติ เช่นโทรศัพท์สาธารณะ หลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างตามถนนหนทาง การใช้น้ำธรรมชาติและน้ำประปาอย่างประหยัดร่วมกัน การใช้กระแสไฟฟ้าสาธารณะให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตลอดจนช่วยเหลือดูแลผู้ ตกทุกข์ได้ยาก อันเป็นการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสตามสมควร แต่ต้องไม่ทำให้ตนเองและครอบครัวเดือดร้อน และการช่วยเหลือต้องไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง อันเป็นประโยชน์ของส่วนรวม
หากคนในสังคมขาดจิตสาธารณะแล้ว ก็จะเกิดผลกระทบมากมายเช่น ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ในครอบครัวมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันน้อยลง แก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้ง เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เห็นแก่ตัว ชิงดีชิงเด่น เบียดเบียนสมบัติขององค์กรเพื่อมาเป็นสมบัติของตนเอง องค์กรไม่ก้าวหน้า ประสิทธิภาพและคุณภาพของงานลดลง ทำให้ชุมชนเกิดความอ่อนแอ เพราะต่างคนต่างอยู่ ไม่มีการพัฒนา ยิ่งปล่อยนานยิ่งทรุดโทรม เกิดอาชญากรรมในชุมชน ขาดศูนย์รวมจิตใจ ขาดผู้นำที่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะแต่ละคนมองเห็นเรื่องของตนเองเป็นใหญ่ เกิดวิกฤตการณ์ภายในประเทศบ่อยครั้งและแก้ปัญหาไม่ได้เกิดการเบียดเบียน ทำลายทรัยยากรและสมบัติของส่วนรวม ประเทศชาติล้าหลัง ขาดพลังของคนในสังคม เมื่อนำมาตรการใดออกมาใช้ก็ไม่ได้ผลเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือ เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก แก่งแย่งแข่งขัน ทุจริตคอรัปชั่น ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหา เช่น การสะสมอาวุธ การกลั่นแกล้ง แก่งแย่งหรือครอบงำทางการค้าระหว่างประเทศเกิดการรังเกียจเหยียดหยามคนต่าง ชาติพันธุ์ของตนเองดูถูก
ดังนั้น จิตสาธารณะ หรือจิตสำนึกสาธารณะ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น อันจะเป็นประโยชน์ ในทุกระดับของสังคม ถ้าหากได้มีการพัฒนาให้เกิดขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง ตั้งแต่บุคคลในระดับครอบครัว ทั่วโลก ย่อมส่งผลดีในระดับที่สูงขึ้นเป็นลำดับ และที่สำคัญที่สุดการสร้างและปลูกฝังจิตสำนึก ที่ดีนั้น ต้องสร้างกับ เด็กและเยาวชน เพราะเด็กสามารถรับรู้ในสิ่งที่ดีงามจากพ่อแม่ที่บ้าน รับรู้จากผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชน พระสงฆ์องค์เจ้า ดูแลลูกหลานในระดับชุมชนและสังคม และสถาบันการศึกษาที่นอกจากจะอบรมสั่งสอนทั้งด้านวิชาการ ยังจะต้อง อบรมคุณธรรม จริยธรรม ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักการเสียสละ การให้ มากกว่า การรับ อย่างเดียวจะทำให้เด็กและเยาวชน พัฒนาจิตใจในการช่วยเหลือผู้อื่น มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เตรียมเข้าสู่การพัฒนา จิตใจตนเองสู่จิตสำนึกสาธารณะต่อไปในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: http://www.stou.ac.th/study/sumrit/8-54(500)/page1-8-54(500).html
ขอขอบคุณภาพจาก: www.oknation.net, www.gotoknow.org, www.branch.led.go.th