บทสัมภาษณ์ : วีรพงษ์ เกรียงสินยศ
ลักษณะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานอาสาสมัครเป็นลักษณะใด
ต้องทำความเข้าใจก่อนนิดหนึ่งว่า งานลักษณะที่ทำ ทำอยู่ในมูลนิธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชน แต่เดิมเขาก็ถือว่าเป็นงานอาสาสมัครแบบหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งมีเงินเดือนมีรายได้ เป็นอาสาสมัครให้กับสังคมเหมือนกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม แต่เดิมเป็นโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม คนแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มีเงินเดือน แต่เงินเดือนไม่มากเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจ หรือภาคราชการ ถ้าเราจะนิยามแบบนี้ ชีวิตในส่วนของพี่ที่เริ่มทำงานมาก็ทำงานในแวดวงอาสาสมัครนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และทำเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ สมุนไพร และโยงใยเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในเรื่องของการรณรงค์ให้กินอาหารปลอดสารพิษ หรือการเกษตรปลอดสารพิษ
งานอาสาสมัครในเชิงสังคม หรือคนที่ทำงานทางสังคมในระยะหลัง นิยามอาจแตกต่างกันไป เพราะคนอาจมองว่างานอาสาสมัครไม่ได้มีเงินเดือนเลย เป็นอาสาสมัคร pure เลย หรือใช้เวลาว่าง ปัจจุบันคนแบบนี้อาจถือว่าเป็นคนทำงานทางสังคม ทำงานเกี่ยวกับองค์กรพัฒนาเอกชนในลักษณะแบบนี้ อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันจะมีเงินเดือน หรือเป็นอาชีพๆ หนึ่งที่ทำงานในเชิงสังคม แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่ทำมาตลอดเป็นกิจกรรมเชิงอาสาสมัครตลอด เช่น องค์กรพี่สัมพันธ์กับชีวิตพี่ก่อนที่จะมาถึงเรื่องที่ทำในวันนี้ จริงๆ ในอดีตมีงานในมิติเชิงอาสาสมัคร เช่น พี่จัดทำศูนย์รับปรึกษาสุขภาพ และการดูแลสุขภาพ และการใช้สมุนไพรทางโทรศัพท์ โดยมีอาสาสมัครที่เป็นเภสัชกร เข้ามาร่วมด้วย กิจกรรมเหล่านี้เคยมี หรือเป็นอาสาสมัครอื่นๆ
เราเป็นคนทำงานทางสังคม เรากินเงินเดือนส่วนหนึ่งภายใต้องค์กรของเรา โดยส่วนตัวพี่เองพี่ก็ไปช่วยงานอื่นๆ ที่เป็นงานอาสาสมัครเยอะ เช่น งานคุ้มครองผู้บริโภค อาสาสมัครเกี่ยวกับเรื่องมิติทางด้านพุทธศาสนาเกี่ยวกับพัฒนาสังคม เป็นงานในเชิงอาสาสมัครที่ลงไปทำกันเยอะ หรือการรณรงค์ในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เราก็ใช้เวลานอกเหนือจากการทำงานของเราไปอยู่ในการรณรงค์ หรือขบวนการเหล่านี้ จะได้เห็นมิติว่าเราได้ไปช่วยงานในเชิงงานอาสาสมัครแบบนี้อยู่ด้วย
การดำเนินงานของศูนย์รับปรึกษาปัญหาสุขภาพ ตอนนี้ยังมีอยู่หรือไม่
ตอนนี้ไม่มีแล้ว เคยมีอยู่ช่วงหนึ่ง และปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข และปัจจัย เช่น ตอนนั้นเรารวมกลุ่มกับเภสัชกร แต่ตอนหลังมีข้อจำกัดของเวลา ข้อจำกัดของทีมงานสำคัญที่เขาเป็นเภสัชกรก็ทำให้งานต้องยุติลง
ปัจจุบันดำเนินงานอาสาสมัครอะไรอยู่บ้าง
อาสานวดเด็กเริ่มต้นมาประมาณ 4 ปี ซึ่งมาจากแนวคิด คือเราทำงานร่วมกัน เป็นแนวคิดของคนที่สนใจเรื่องพุทธศาสนา และท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านเป็นประธานเครือข่ายพุทธิกา ซึ่งเราเองก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และพยายามจะรณรงค์เรื่องนี้มานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี รณรงค์ให้สังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องพุทธศาสนาให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำบุญ ที่ผ่านมาเราเข้าใจเรื่องบุญคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่พุทธศาสนาได้กล่าวไว้ ก็มีการรณรงค์กันในเรื่องการฉลาดทำบุญ พอทำรณรงค์ในเชิงความคิดสื่อสิ่งพิมพ์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ประมาณสัก 4-5 ปีที่แล้ว ก็คิดว่าน่าจะแปรมาเป็นเชิงรูปธรรม หนึ่งในวิธีฉลาดทำบุญ คือ งานอาสาสมัคร คือ เป็นการใช้แรงกายแล้วจะได้บุญ ก็เริ่มต้นรณรงค์กันในลักษณะแบบนี้ ซึ่งทำงานกันเป็นเครือข่ายหลายองค์กร ซึ่งองค์กรของพี่ทำงานในเชิงสุขภาพ และเรามีต้นทุนเดิม คือ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการนวดสัมผัสเด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตพัฒนาการทั้งกายภาพ สติปัญญา และอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์และสมดุล เรามีองค์ความรู้แบบนี้อยู่และเผยแพร่ ที่ผ่านมาเราเผยแพร่จัดฝึกอบรมเก็บเงินให้กับคนชั้นกลาง ใครมีเงิน มีลูกเล็กๆ อยู่อยากฝึกอบรมก็มาว่ากัน สัก 4-5 ปีที่แล้ว เราคิดว่าเราน่าจะรณรงค์ และเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราจะจัดอบรมเล็กๆ น้อยๆ กับคนชั้นกลาง ความรู้เหล่านี้จะกระจายไปได้น้อยไป เราน่าจะหาอาสาสมัครมาช่วย ขณะเดียวกันเราก็เห็นกันอยู่กันปกติว่าเด็กที่ด้อยโอกาสในสถานสงเคราะห์มี อยู่จำนวนมาก ซึ่งเขาเป็นเด็กที่ขาดโอกาส เพราะฉะนั้นความรู้เรื่องการนวดสัมผัสซึ่งจะไปช่วยเติม เสริมให้เด็กที่ขาดโอกาส ขาดความรักมีโอกาสมากขึ้น ทำให้เด็กเหล่านี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น นี่คือต้นความคิดของการนำมาสู่งานอาสาสมัคร
หลังจากนั้นเราประกาศรับอาสาสมัคร และทำการฝึกอบรมพื้นฐาน ทักษะในการนวด ความรู้ ทักษะเบื้องต้นของการเป็นอาสาสมัคร
อาสาสมัครขององค์กรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มใด
จริงๆ ก็เข้ามาทุกวัย จากประสบการณ์ที่ทำมา 4 ปี มีทุกวัย เราจะจัดเป็นรุ่นๆ รุ่นหนึ่งประมาณ 3-4 เดือน จะมีอาสาสมัครประมาณ 80 – 100 คน โดยวัยจะมีแทบทุกวัย แต่วัยที่มากที่สุดจะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว ใช้เวลาว่างในวันหยุดมา หรือบางคนทำงานแล้วแต่เป็นอาชีพอิสระ ไม่ได้ทำใน office ก็มาร่วมด้วย เพราะว่าอาสาสมัครเราเปิดรับวันธรรมดาด้วย เช่น พุธ พฤหัสฯ สัปดาห์ละ 4 วัน คือ พุธ พฤหัส เสาร์ อาทิตย์ ให้มีเวลาพัก ซึ่งมีหลายคนที่มาร่วมงานในวันธรรมดา คือ พุธ พฤหัส เป็นคนที่อยู่ในแวดวงอาชีพแม่บ้าน หรืออาชีพอิสระที่เขาสามารถจัดสรรตัวเองได้ บางครั้งที่เราเปิดบางครั้งก็เป็นข้าราชการที่ตัดสินใจว่าจะลาหยุดทุกๆ อาทิตย์เป็นเวลาสามเดือนเพื่อมาเป็นอาสาสมัคร แต่บางคนที่มีงานประจำเขาก็จะเลี่ยงเป็นวันเสาร์อาทิตย์
ในอดีตเราก็มีกิจกรรมที่เลิกไปแล้วบ้าง เมื่อก่อนเราเคยทำงานที่ชักชวนนักศึกษามาเป็นทำงานอาสาสมัครก็มี เราจัดกิจกรรมคล้ายๆ เชิงค่ายเพื่อดึงคนมาร่วมงาน แต่เราทำงานมาหลายปี เราก็ทำกิจกรรมในเชิงอาสาสมัครนี่อยู่เยอะ โดยปัจเจกผมก็ไปช่วยองค์กรอาสาสมัครอยู่เยอะ อาสาสมัครหมายความว่าบางทีไม่ได้เงินเดือน แต่ไปบางครั้งอาจได้ค่ารถ ค่าเดินทางบ้าง เราทำอย่างนี้เยอะ หลายๆ อย่างก็ไม่มี ทำให้ฟรี แต่ถ้าองค์กร ขณะนี้มีงานอาสาสมัครนวดเด็กเป็นงานอย่างเดียวที่ทำต่อเนื่องมา 4-5 ปี
ผลตอบรับของการทำงานเป็นอย่างไร
โดยส่วนตัวผมมองว่าพัฒนาได้ประมาณ 2 – 3 มิติ พัฒนาขึ้นโดยตลอด พัฒนาในแง่ของ 1. องค์กรได้เรียนรู้วิธีการดูแล หรือจัดการอาสาสมัคร แต่เดิมก็มีแต่พอเราทำซ้ำๆ ลักษณะงานแบบนี้ เราได้มีองค์ความรู้ เราได้รู้ว่าวิธีการที่จะดูแลอาสาสมัครนั้นจะต้องใช้องค์ความรู้ ไม่ใช่ว่ารับใครมาแล้วปล่อยเขาทิ้ง ไม่ได้ดูแลเขาไม่ได้ เราเข้าใจตรงนี้ 2. อาสาสมัครแทบทุกรุ่น พอท้ายโครงการเราให้สรุปบทเรียน หรือคล้ายๆ ประเมินกัน ได้พูดคุยกัน ทุกรุ่นเลยเขาพบความเปลี่ยนแปลงในตัวเขาอย่างดี และมีพัฒนาการอยู่ตลอด เช่น ในรุ่นแรกๆ เวลาการทำงานก็จะเกิดปัญหา และบางคนก็คิดว่าตัวเองจะมาเป็นผู้ให้ ซึ่งเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ แต่พอเข้ามาเป็นอาสาสมัครนวดเด็ก อยู่ไปแล้วก็พบว่า เขาให้เด็กน้อยกว่าที่เด็กให้เขา เขาพบเด็กแล้วเขาเห็นว่าเด็กมีความใส บริสุทธิ์ มีความรักต่อเขา เขามาอยู่กับเด็กแล้วเขาสบายใจ เขาคลายเครียด เขากระชุ่มกระชวย เขารู้สึกว่าเขาเป็นผู้ให้ๆๆ แต่กลายเป็นว่าเขามาอยู่กับเด็ก เด็กให้เขาโดยไม่ได้สิ่งตอบแทน เป็นกระบวนการที่เขาเรียนรู้ และเขาบอกเราเอง หรือในรุ่นแรกๆ แรกๆ มาก็เด็กจะเลี้ยงอย่างไร เด็กก็ไม่ได้น่ารักเหมือนลูกหลานเรา เด็กพวกนี้ก็มีความน่ารักแบบเด็ก แต่ก็ไม่ได้ใสสะอาดกันทุกคน บางคนก็ไม่สบาย ป่วย บางคนก็ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง สมประกอบ มาแรกๆ ก็อาจจะไม่ได้ผูกพัน พอในท้ายโครงการ หลายคนพอต้องจากกัน ผูกพัน ยึดติด เหมือนคนมีแฟน บางทีก็รับไม่ได้ มันเกิดความรัก ความผูกพันกับเด็กกลายเป็นตัวเอง รู้สึกเป็นเจ้าของ แล้วก็ยังอยากทำอะไรที่มีสิทธิพิเศษ แรกๆ เราเจอปัญหาอย่างนี้ว่าไม่รู้จักการปล่อยวาง หรือไม่เข้าใจเงื่อนไขของสิ่งเหล่านี้ มาระยะหลังๆ มันเกิดการกระบวนการเรียนรู้ที่คนจะสื่อสาร เขาจะเข้าใจว่า โอเคนะ เด็กก็ต้องมีพลัดพรากจากเรา เด็กเขาต้องจากไป เราก็เรียนรู้ และยกระดับว่า มันยังมีเด็กอีกเยอะแยะที่เรายังไม่ได้ช่วยดูแลเขา หมายถึงว่าถ้าถามว่าเติบโตในมิติเหล่านี้ก็เติบโต เติบโตอีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญมากคือ หลังจากที่เราทำงานกันมาประมาณ 4 ปี เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการ คือ สถานสงเคราะห์บ้านปากเกร็ดที่นนทบุรี และเราก็ทำงานกับเขาว่า 1. เราไม่ได้ต้องการว่าเราจะเป็นพระเอกหรือนางเอก 2. เราคิดว่าระบบอาสาสมัครท้ายที่สุดในระยะยาวมันควรจะเป็นระบบที่ฝังตัวเอง หรือกลมกลืนกันไปกับระบบราชการเพื่อจะให้ระบบนี้ ได้เปิดโอกาสให้คนได้เป็นอาสาสมัครและยังได้ช่วยแบ่งเบาภาระของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีทางเพียงพอเลยกับจำนวนสัดส่วนของเด็ก ก็ปรากฏว่าพัฒนาการด้านความสัมพันธ์และการจัดระบบในสถานสงเคราะห์ก็ดีมาโดย ตลอด ทำให้เกิดความร่วมมือ และเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีการจัดระบบอาสาสมัคร แต่เดิมอาจจะมีหลายระบบแล้วแต่องค์กรที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ก็พยายาม set ให้มันอยู่ในระบบเดียวกัน และก็ทำความเข้าใจร่วมกัน ไม่ได้เกิดปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ถ้าถามว่าผลเป็นอย่างไร มันได้ในหลายมิติ
กลุ่มคนที่มามีวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกรุ่นจะมีระดับนิสิตนักศึกษา คนหนุ่มสาวอยู่ร่วมทุกรุ่น แทบทุกรุ่นจะมีวัยเด็กนักเรียนประถมด้วย ซึ่งอาจจะมาจาก 2 แหล่ง 1. มากับพ่อแม่ผู้ปกครอง บางแหล่งเขาตัดสินใจมาเอง แล้วก็มีคุณครูมาด้วย และพาเพื่อนๆ มาต่อ เด็กเหล่านี้มาแล้วเขารู้สึกการเปลี่ยนแปลง เกิดความเข้าใจ หรือเขารู้สึกว่า เวลาที่เขาให้สิ่งเหล่านี้ มีประโยชน์คุณค่ามากกว่าไปเที่ยวเล่นอินเตอร์เน็ต หรือเดินห้าง ก็มีสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด แน่นอนมันอาจจะมีจำนวนไม่เยอะแต่ในทุกๆ รุ่นก็มีอย่างนี้ผสมผสานเข้ามาโดยตลอด
การจัดนี่จัดเป็นรุ่นๆ พอหมดรุ่นแล้วประกาศรับใหม่ ประกาศรับใหม่คนเก่าถ้ายังจะทำก็ดี แต่เราก็จะเปิดพื้นที่ให้กับคนใหม่ไว้ด้วย เพื่อที่จะให้มีคนสองรุ่น มีพี่เลี้ยงได้หมุนเวียนกันไปอย่างสม่ำเสมอ
มีมุมมองต่อสถานการณ์งานอาสาสมัครของไทยตอนนี้อย่างไร
ผมคิดว่าคนไทยโดยพื้นฐานพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว เพียงแต่บางทีเขาไม่มีช่องทางที่จะเปิดให้เขาได้ทำ เราดูจากอินเตอร์เน็ต มีเนตมากมายที่ขอเลือด ขอบริจาค เขาพร้อมช่วยเหลือ แล้วคนไทยนี่พร้อม พร้อมที่จะขอ ช่วยเหลือ สึนามิเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์ที่ว่ามันเกิดพลัง แต่ว่ามันเป็นอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์ขึ้นมา ไร้ระบบของการจัดการ การรองรับ มันก็แปลกที่ว่า ช่วยกันเต็มที่ แต่พอคนแก่ขึ้นรถเมล์ก็ไม่มีน้ำใจเอื้อ ซึ่งผมคิดว่า สังคมไทยแปลกมาก แต่โดยพื้นฐานคนไทยพร้อมที่อยากจะช่วย ดังนั้นถ้ามองในเชิงระบบ อาสาสมัครบ้านเรา สิ่งสำคัญคือเราจะต้องเปิดพื้นที่ มีการรองรับกลุ่มคนหลากหลายวัย หลากหลายสไตล์ หรือหลากหลายจริต บางคนเขาชอบเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว เห็นสุนัขอย่างกับลูก บางคนอาจจะอยากจะช่วยเหลือ เช่น ช้าง บางคนจะอินมาก บางคนก็บอกเลี้ยงเด็กไม่ได้ เดี๋ยวจี๊ด เห็นเด็กแล้วจะบ้า ฉันอยากจะไปช่วยปลูกต้นไม้
สังคมไทยถ้ามีการจัดวางระบบอย่าให้แข็งตัว แต่ขอให้เป็นระบบที่มีการบริหารจัดการที่ดี มันจะเปิดช่องทางให้คนมีเวลาทำอะไรมากขึ้น มีบางคนกล่าวไว้น่าสนใจว่า ในระบบทุนนิยม ตั้งแต่เช้าเธอเดินออกจากบ้านเธอจะเห็น 7-11 อยากจะกินซาลาเปา อยากจะกินอะไร มันดักคนไว้หมดเลย อยากจะซื้ออะไรมันดักไว้หมด ไม่มีทางเล็ดลอดไปได้ ถ้าเราคิดว่างานอาสาสมัครเป็นงานของคุณงามความดี เราก็อาจจะต้องมีเมนู เปิดเมนูที่พร้อมที่จะดัก เพราะคนอยากทำความดี ถ้าเปิดเมนูไว้ เฮ้ยๆ อันนี้ฉันทำได้ อันนี้ฉันพอมีโอกาส เพียง 1 ชั่วโมงก็ได้ทำ ต้องมีแบบนี้ด้วย ไม่ใช่ว่าอาสาสมัครต้องไปเลย 7 วัน สร้างอย่างเดียว hard core บางคนไม่ได้ ซึ่งผมเองเคยไปช่วยเรื่องหอจดหมายเหตุของอาจารย์พุทธทาส ทีนี้เราก็ไปคุยว่า มีคนสามารถนั่งอยู่กับบ้านเป็นงานอาสาสมัครได้ เช่น งานเขียนของท่านอาจารย์พุทธทาสมีเยอะมากเลย ถ้าเราเปิดเมนูว่าใครพิมพ์ดีดเก่ง ขอให้พิมพ์วันละ 2 หน้าได้ไหมหรือว่างเมื่อไหร่พิมพ์เมื่อนั้น ช่วยกันพิมพ์ เพื่อเป็นอาสาสมัครพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นไปแล้วอยู่เวปไซต์ และเก็บไว้เป็นสมบัติของชาติ ไม่เป็นไรคุณพิมพ์ถูกพิมพ์ผิดไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวเรามีโปรแกรมคอยตรวจ เสร็จแล้วเราก็หาอาสาสมัครอีกคนหนึ่งไว้คอยอ่านให้ เธอก็ได้เรียนรู้ว่าเธอผิด คนอยู่ไหนก็ได้ในโลกสมัยใหม่ คุณสามารถช่วยงานได้ ถ้าเราสามารถคิดแก๊กออก ว่างเมื่อไหร่ก็พิมพ์เมื่อนั้น ฉันขออาสามาหนังสือเล่มนี้ แล้วก็พิมพ์ แบบนี้คนจะมีความสุข ผมเชื่อว่ามันมีเยอะมาก และไม่จำเป็นว่าคุณต้องมาพบหน้า ชั่วโมงเดียวก็ทำได้
ในอดีตมีงานอาสาสมัครสอนหนังสือเด็กเยอะแยะ สิ่งที่ผมฝันว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ มีอาสาสมัครติวเตอร์ ทุกวันนี้เด็กนักเรียนมีติวเตอร์กันตลอด แต่ผมเชื่อว่าคนที่เก่งๆ เก่งทั้งความรู้ เก่งทั้งสอนหนังสือเก่ง จะมีเยอะแยะ จะมีใครไหมที่จะรวมกลุ่มกันติวคณิตศาสตร์ ติวภาษาอังกฤษ เพื่อเด็กที่ยากจน หรือเด็กที่ไม่มีกำลัง มีอาสาสมัครมาช่วยสอนติวให้วันละ 1 ชั่วโมง สามารถคิดได้ถ้าเราเปิด แต่แน่นอนต้องมีการจัดการ จะต้องช่วยดูแล หรือจัดระบบอาสาสมัครเหล่านี้ อาจจะมีคนเก่งๆ ดีๆ ที่เขาพร้อมที่อยากจะมาใช้โอกาส หรือมีบางส่วนอยากจะสอนดนตรี เพราะเรียนดนตรีมันแพงมาก แต่โอเค อาจจะเป็นว่าจะมีโอกาสไหมที่เขาอยากจะมาเรียนดนตรีกันแบบง่ายๆ ถ้าเราพยายามเปิดเมนูอย่างที่บอกไว้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ใครที่ทำงานอาสาสมัครอย่าคิดอะไรง่ายๆ ในแง่ที่ว่าไม่เป็นไร อาสาสมัครมาเป็นเรื่องง่ายๆ การดูแลอาสาสมัคร หรือระบบการดูแลอาสาสมัคร เป็นหัวใจที่สำคัญ ถ้าคุณไม่มีระบบในการดูแลอาสาสมัคร คุณอย่าไปทำ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะอาสาสมัครเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ ความรู้สึก มีเหตุผลต่างๆ มันต้องมีระบบการดูแลเขาด้วย เพื่อให้เขายังสามารถเห็นคุณค่า และหล่อเลี้ยง เขายังสามารถเป็นอาสาสมัครไปได้เรื่อยๆ และเกิดความเข้มแข็ง และพัฒนาไปได้เรื่อยๆ
เมืองนอกมีบางแห่งเขารับอาสาสมัครวันเดียวหรือสองวัน เพื่อเป็นอาสาสมัครเอากล่องอาหารของเทศบาลที่เขาดูแลคนชราที่ไม่สามารถเดิน ไปไหนมาไหนได้ไปวางหน้าบ้านทุกวัน แต่เขาต้องมีระบบ network หรือบางที่มีงานอาสาสมัครง่ายๆ ช่วยทำอาหารให้คนไม่มีที่อยู่ แต่เขาต้องมีระบบทะเบียน มีการจัดการ มีการฝึกอบรมด้วย
อาสาสมัครต้องมีการฝึกอบรมนะ บางทีเราคิดแบบนิสิตนักศึกษาออกค่ายก็โอเค แบบนี้ทได้ แต่อาสาสมัครต้องมีการดูแลและการฝึกอบรมเตรียมความพร้อม การฝึกอบรมไม่ใช่ให้เขากลายเป็นช่างไม้ที่เก่ง แต่มันต้องมีการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ทัศนคติเรื่องงานอาสาสมัคร และทักษะเบื้องต้นที่เราจะลงไปทำงาน อย่างน้อยต้องมีทักษะเบื้องต้นเพื่อให้งานนั้นสมบูรณ์และเขาก็สุขใจด้วย
เมืองไทยเราต้องใส่ใจเรื่องนี้ เราอย่าเพียงแต่ประชาสัมพันธ์เยอะ และมีคนมาเป็นอาสาสมัคร เพราะมันจะเป็นคลื่นกระทบฝั่งหายไป คนเข้ามาปั๊บกระทบฝั่งหายไปมันจะไม่มีกระบวนการการดูแล การรองรับ การเตรียมความพร้อมการฝึกอบรม สิ่งที่พี่ทำในองค์กรพี่จะพยายามคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ และความสัมพันธ์ของอาสาสมัครก็จะดี เขาจะมาช่วยเหลืองาน บางทีเขาก็จะเป็นกลุ่มของเขาไปเองไปทำอะไรกันต่อ บางทีเขาก็จะไปช่วยเหลือเด็ก เขาก็เหมารถตู้ไปกันเอง เขาก็ควักเงินควักทองไปกันเอง แต่สิ่งเหล่านี้ต้องมีระบบ ไม่ใช่ว่าจะเกิดมาตามธรรมชาติ มันคงมีแบบธรรมชาติได้ คุยกันถูกจริตกัน แต่มันต้องมีระบบตรงนี้ซึ่งพี่คิดว่ามันสำคัญมาก ระบบในการดูแลรองรับ ถ้าเราเปรียบเทียบกับบริษัท บริษัทมีฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ก็ดี ฝ่าย training หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายต่างๆ มาฝึกอบรมตลอด เพราะฉะนั้นงานอาสาสมัครต้องมีงานตรงนี้ด้วย ถือว่าเป็นงานที่สำคัญนอกจากเนื้องานแล้ว นี่อาจจะต้องไป back up office ด้านหลังที่สำคัญ
มีข้อเสนอต่อการพัฒนากลไกงานอาสาสมัครอย่างไรบ้าง
กลไกพี่คิดเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 คือ ง่ายๆ เป็นการแจ้งข่าวว่าใครทำอะไรที่ไหน อันนี้ช่วยทำให้บรรยากาศ เปรียบเทียบคือ ดอกไม้มีบานหลายแห่ง หลายที่ ใครสนใจตรงไหนก็ไปอยู่ตรงนั้น อันนี้ง่ายที่สุด กับอีกหนึ่งกลไกผมคิดว่า กลไกกลางควรมีพื้นที่ของเขาเองในการ exercise ถ้าใครคิดจะมาทำกลไกกลาง ประสานงาน ผมคิดว่าเขาน่าจะมีพื้นที่สักพื้นที่หนึ่งด้วย หรือเขาเองควรจะรับสักเมนูหนึ่งด้วย เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ เข้าใจอาสาสมัคร เขาอาจจะประสานงานสักร้อยองค์กร คนอื่นก็ทำหมด ตัวประสานงานกลางเอง ควรจะมีที่สำหรับ exercise เพื่อจะได้เข้าใจ ด้วยสักอันหนึ่ง ถัดมาผมคิดว่างานกลไกควรจะเป็นงานในเชิงวิชาการที่จะเข้าไปช่วย support องค์กรต่างๆ ให้มีระบบในการดูแลอาสาสมัคร ระบบในการพัฒนาบุคลากรที่จะมาดูแลอาสาสมัคร ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น อันที่สาม ถ้าเป็นไปได้ในระยะยาวควรจะมีคล้ายๆ กับงานประจำปี จะเรียกว่ารวมพลคนอาสาสมัคร รวมพลองค์กรทำงานด้านอาสาสมัคร หรือมหกรรมอะไรก็ได้ ไม่ต้องใหญ่โตมาก แต่มีเจตนาเพื่อให้เกิดบรรยากาศให้คนได้มาทำสิ่งดีงาม มันเหมือนกับว่าใครที่สนใจเรื่องเหล่านี้ได้มาเห็น ได้มาเรียนรู้ และอาจจะมีการพัฒนาในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับงานอาสาสมัครมากมาย เช่น ต่อไปอาจจะมีงานวิจัยว่าอาสาสมัครทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ได้น้อยลง ซึ่งผมเชื่ออย่างนั้น คนแก่ๆ นี่ลองให้ทำอะไร สมองจะได้ใช้ หรือมีงานวิจัยว่า คนแก่ถ้าได้เลี้ยงหลาน ตัวเองกระชุ่มกระชวยเพราะเอนโดรฟีนหลั่ง คึกคัก สุขภาพจิตดี งานวิจัยเมืองนอกเลย เด็กก็ดีด้วย เด็กก็อบอุ่น แต่ว่างานอาสาสมัครมีงานศึกษาทางวิชาการไปได้อีกเยอะ