บทสัมภาษณ์คุณธารา บัวคำศรี (กรีนพีซ)

เริ่มต้นเข้ามาร่วมทำงานด้านอาสาสมัครได้อย่างไร
ถ้าจะเล่าของพี่เองคงจะเริ่มตั้งแต่ที่ก่อนจะเข้ามาทำงานที่กรีนพีซ เพราะว่าตอนเรียนจบ ช่วงนั้นประมาณ 20 ปีที่แล้ว ช่วงปริญญาตรี เป็นช่วงที่กระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนโดยเฉพาะการขยายตัว การเติบโตขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO กำลังเพิ่มขึ้น จริงๆ ในช่วงนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ แต่จะรู้จักคนพัฒนา เพราะช่วงนั้นมีช่วงของการที่นักพัฒนาเอกชนเข้าไปทำงานในหมู่บ้าน เข้าไปทำเกี่ยวกับเรื่องอาชีพ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ หรือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน ตอนนั้นกระบวนการนักศึกษาเองก็ยังค่อนข้างจะมีความเข้มแข็ง โดยเปรียบเทียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าใครเข้มแข็งกว่าใครระหว่างนักศึกษาปีที่แล้วกับ ปัจจุบัน เพราะมันอยู่คนละเหตุการณ์กัน เพราะว่ามันต่อเนื่องมาจากกระแสเรื่องการเคลื่อนไหวของสิ่งแวดล้อม ของสังคม มีการต่อสู้เรื่องเขื่อนน้ำโจร เรื่องการตัดไม้ทำลายป่า หรือเรื่องโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงนั้นเยอะ เราอาจจะถือว่ากิจกรรมของนักศึกษาในช่วงนั้นเป็นงานอาสาสมัครได้ จุดเริ่มต้นที่ก่อนจะเข้ามาทำงานกรีนพีซ ในฐานะที่เรามองว่าเป็นงานอาสาสมัครสามารถย้อนหลังไปได้ค่อนข้างเยอะทีเดียว หลังจากจบตอนนั้นก็มีความสนใจ เนื่องจากในมหาวิทยาลัยก็ทำกิจกรรมนักศึกษา จบแล้วก็รู้สึกว่ามันก็มีพื้นที่หลายๆ พื้นที่ที่เปิดให้กับตัวพี่เองแทนที่จะตามเพื่อนๆ เขาตามสาขาทีเรียนมา ปลีกตัวเองมาทำงานเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงนั้น eastern seaboard ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด จริงๆ แค่ชลบุรี ระยอง กำลังบูมในเรื่องของราคาที่ดิน การเก็งกำไรที่ดิน เพราะว่ามันมี eastern seaboard มีแหลมฉบัง มีมาบตาพุด ช่วงนั้นโรงงานแรกๆ พวกโรงแยกก๊าซ คือเป็นช่วงโชติช่วงชัชวาล สมัยต่อมาจากพลเอกเปรม พลเอกชาติชาย ชาวประมงกำลังจะถูกรุกไปเพราะว่ามีการท่องเที่ยวเข้ามา มีอุตสาหกรรมเข้ามา กลุ่มในพื้นที่นี้ เขาก็ทำเรื่องประมงพื้นบ้านเราก็เข้าไปทำงานอาสาสมัครกันหลังจากจบแล้ว และก็เข้าไปอยู่ในองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขาซึ่งทำงานอยู่ในแถบภูเขาจังหวัดเชียงราย เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และช่วยงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในหลายๆ องค์กรด้วยกัน เป็นองค์กรเกี่ยวกับ NGO เราจะเห็นว่าพื้นที่ของอาสาสมัครในช่วงนั้นมันมีหลากหลาย และถ้าเราจะย้อนงานอาสาสมัครจะเริ่มตั้งแต่โน่น สมัยอาจารย์ป๋วย บัณฑิตอาสา ก็เป็นเหมือนมรดกให้เราได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น
งานกรีนพีซ เข้ามาตั้งในประเทศไทยจริงๆ เมื่อปี 2543 งานของกรีนพีซเป็นงานที่มีหลายมิติด้วยกัน มิติหนึ่งคือเรื่องของอาสาสมัคร แต่ในช่วงต้นที่เรามาตั้งกันเกิดจากการที่กรีนพีซสากลมองเห็นว่า ภูมิภาคแถบนี้เป็นที่บริษัทข้ามชาติหรือว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกย้ายมาไว้ที่ นี่ มันน่าจะมีบทบาทาของกรีนพีซในบทบาทของประเทศ ภูมิภาค ที่จะเข้ามาตามดูปัญหาพวกนี้เข้ามาด้วย ตอนแรกมีคนที่ทำงานไม่กี่คน มีพี่คนหนึ่ง และเพื่อนๆ อีก 2 คนรวมๆ กัน ตอนนั้นเราใช้อาสาสมัครมาก เป็นอาสาสมัครภายใต้เครือข่ายที่เรามีอยู่ ก็เชิญเข้ามา เพื่อนๆ ก็เอ้ยมาช่วยกัน อาสาสมัครไม่ได้เป็นระบบมากมายนัก ใช้วิธีปากต่อปาก เพื่อนต่อเพื่อนและเครือข่ายที่มีอยู่เฉพาะกิจ ก่อนที่เราจะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิภายใต้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรมจริงๆ งานส่วนใหญ่ผลักดันโดยอาสาสมัคร คือ ถ้าไม่มีคนมาช่วยเราทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งเรามี office เป็นรูปเป็นร่างเราก็ไม่ลืมตรงนี้ เพราะว่าหัวใจของงานกรีนพีซในการที่จะออกไปทำกิจกรรมหรือลงมือปฏิบัติการ อะไรสักอย่างทั้งหนักทั้งเบา เราขาดอาสาสมัครไม่ได้ และถ้าจะนับคนที่มาเป็นอาสาสมัครกรีนพีซทั่วโลกนับเป็นล้านคน ถ้าเราเอาอาสาสมัครในความหมายใหม่ด้วย หรือนักกิจกรรมออนไลน์ที่ใช้เวลา 1 นาที 5 นาทีในการเขียนชื่อตัวเองลงไปและส่งไปเรียกร้อง ไปกดดันรัฐบาล ไปกดดดันอะไรสักอย่างก็มากกว่านั้น cyber activist ก็เป็นล้านๆ คน
ถ้ามองในมุมมองของอาสาสมัครในความหมายที่เป็นการขับเคลื่อน การเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็คือเป็นหัวใจสำคัญ

ลักษณะงานที่อาสาสมัครเข้ามาทำในกรีนพีซเป็นอย่างไรบ้าง
เราจะมีแผนกกิจกรรม เขาเรียก action unit ในกรีนพีซที่อยู่ในประเทศไทยจะแบ่งโครงสร้างเป็น แผนกรณรงค์ แผนกระดมทุน แผนกกิจกรรม (action unit) ทำงานควบคู่ไปกับแผนก public outreach คือ เป็นการออกไปทำกิจกรรมกับประชาชน และมีแผนกสื่อสาร communication ก็จะทำงานเป็นทีมเวิร์ค แบ่งเป็นแผนกๆ อาสาสมัครจะอยู่ทุกจุด เช่น ฝ่ายรณรงค์เราก็จะต้องมีคนมาช่วยเวลามีกิจกรรมต่างๆ ที่เราไม่สามารถที่จะทำได้ตามลำพัง นอกจากเราจะอาศัยแผนกอื่นในองค์กรเราเองแล้ว เราอาจจำเป็นต้องดึงเอาคนนอกมาช่วย หรือคนที่มีความสามารถเฉพาะด้านต่างๆ มาช่วยในการทำกิจกรรม หรือเป็นตัวดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ที่เราทำขึ้น ความเป็นระบบของการจัดการงานอาสาสมัครจะตกอยู่กับฝ่าย action กับ ฝ่าย public outreach ก็จะมีฐานข้อมูลของอาสาสมัครของเรา จะมีแบบฟอร์มเวลาเราออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เช่น ตั้งโต๊ะรับบริจาค หรือตั้งโต๊ะรับคนมาช่วยทำกิจกรรม จะมีกรอกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ความสามารถพิเศษ และเราก็เอาเข้าไปป้อนในฐานข้อมูล และเราก็จะดูว่ากิจกรรมนี้ต้องการคนที่มีความสามารถแบบไหนเข้ามาช่วย ก็จะลิสต์ดูว่ามีน้องๆ อาสาสมัครกี่คนที่จะทำแบบนี้ได้ ก็จะโทรติดต่อ ตอนนี้ยิ่งสะดวกมากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าใช้โปรแกรมอะไรทำ data base เป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างจะสามารถเรียกฐานข้อมูลมาได้เลย แต่จริงๆ แล้วนี่เป็นเพียงเทคนิค การที่จะดึงเอาคนมาช่วยงานจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่าคุณมี database อยู่ 3,000 คนแล้วคุณจะเรียกได้หมด เรื่องของกิจกรรม แรงจูงใจ หรือกิจกรรมที่ทำให้เขาอยากร่วมจริงๆ ด้วย เลือกให้เหมาะกับกิจกรรม และอาสาสมัครส่วนหนึ่งที่เราจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ อาสาสมัครที่มาช่วยเราอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถพิเศษที่เหมาะกับงานบางงานของกรีนพีซ เช่น ในงานของกรีนพีซหลายอันที่จะต้องออกไปประท้วง ไปทำกิจกรรมที่ค่อนข้างหนักๆ เราก็จะมีเครื่องมือของเรา เช่น เรือยาง หรือไม่ก็ทักษะที่จะต้องปีนไปบนโครงสร้างต่างๆ เพื่อแขวนป้ายผ้า ก็จะมีการฝึกฝน อบรม เทคนิคเหล่านี้ให้น้องๆ อาสาสมัครที่เขาสนใจจริงๆ ที่เขาจะมาเป็น activist กับเรา

แนวทางการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครทำอย่างไรบ้าง
ปกติแต่ละเดือนเราจะมีทำ volunteer orientation โดยดูจากฐานข้อมูลของเราว่า เดือนนี้เรามี orientation ที่ office หรือมีกิจกรรมนอกสถานที่หรือมีกิจกรรมบางอย่างที่เขามาร่วมได้เลย ก็จะใช้อาสาสมัครเข้ามาร่วม และบางกิจกรรมเราต้องการปริมาณมากกว่าความสามารถพิเศษของคนแต่ละคน

มีมุมมองต่อระบบงานอาสาสมัครในไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร
ระบบงานอาสาสมัครของไทย จริงๆ ถ้าดูการเติบโตของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย ผมคิดว่าเป็นระบบขึ้นในแง่ที่ว่าเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มน้อยๆ เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเองด้วยความรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างให้กับ สังคม ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนเอง ซึ่งผมว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญและมีสัดส่วนค่อนข้างเยอะ จริงๆ แล้วเกือบทั้งหมด ผมคิดว่าคืองานที่คนหนุ่มคนสาวที่อยากจะทำอะไรสักอย่างที่ไปให้พ้นจากเรื่อง ของตัวเอง และตั้งเป็นกลุ่มต่างๆ ขึ้นเยอะแยะไปหมด ความเป็นระบบของมันคือ บางทีเขาคิดของเขาเองและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างรวดเร็ว เช่น ถ้าไม่เอาสึนามิ ที่เห็นได้ชัดว่าเกิดกระบวนการที่อยากจะลงไปช่วย ไปเป็นจิตอาสาที่จะไปช่วยคนที่ได้รับผลกระทบ และจะมีเหตุการณ์แถวบ้านก้อ ที่มีดินถล่มน้ำท่วม และมีการส่งอาสาไปช่วย ส่วนหนึ่งก็เพราะพื้นฐานของสังคมไทยที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันอยู่ ก็จะเป็นฐานสำคัญที่จะช่วย มันเป็นระบบขึ้น และมีกรณีของจิตอาสาที่เราทำงานมาด้วยกัน ก็เห็นว่าคิดเป็นระบบ และคิดชัดว่า ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมถ้าเราอยากจะช่วยก็จะมีไกด์ไลน์ให้กับคนที่นึก ไม่ออกว่าจะไปช่วยอย่างไร ว่านี่มีอย่างนี้ คุณจะไปแบบไหน ความเป็นระบบนี้จะทำให้กระตุ้นให้คนที่อยากจะช่วยแต่ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร ได้มีบทบาทมากขึ้น ความรู้สึกผมคิดว่ามันเป็นระบบและมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่สะเปะสะปะ

มีข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบงานอาสาสมัครไทยอย่างไรบ้าง
มองจากประสบการณ์ของงานอาสาสมัครของกรีนพีซ ถึงแม้ว่าเราจะมีระบบ มีฐานข้อมูล มีกิจกรรมที่ชัดเจนว่าแต่ละเดือนมี orientation มีกิจกรรมที่น้องๆ หรือเยาวชน หรือใครสามารถเข้าร่วมได้ แต่ปัญหาของเราคือ น่าจะเป็นเรื่องของการสื่อให้อาสาสมัครที่มีอยู่ใน  database ของเรา 3,000 คน ออกมาทำอะไรสักอย่างร่วมกัน เป็นพลังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง และจับต้องได้เป็นรูปธรรม และทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งเรายังประสบอยู่ ถึงแม้ว่าเรามีระบบชัดเจน แต่ผมคิดว่า การที่อาสาสมัครเป็นระบบขึ้น แต่ก็ยังกระจัดกระจายอยู่ไปทั่ว แล้วก็ไม่ได้รวมศูนย์เข้ามาผมถือว่าเป็นข้อดี เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะ mapping การกระจายเหล่านี้ สิ่งที่กระจายกันอยู่เหล่านี้ หยิบเอาจุดเด่นของแต่ละกลุ่มที่กระจายอยู่ขึ้นมา ทำให้เกิดการผลักดัน หรือแรงบันดาลใจให้คนได้เข้าไปหา ไปช่วยเหลือ ไปร่วมมือ ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่างๆ คือ สร้างแรงบันดาลใจให้เขา อย่างที่ผ่านมา เราเคยทดสอบว่า สมมติเรามี database อยู่ 3,000 ชื่อ ถ้าเราจะเรียกมาหมด ท้าทายมากว่าจะทำอย่างไร ซึ่งมันเป็นไปได้ในโลกของความเป็นจริง มีครั้งหนึ่งคือตอนที่อยู่อนุสาวรีย์ ปกติเวลาเราขอความร่วมมือของอาสาสมัครอย่างมากก็จะมา คือ แล้วแต่เงื่อนไขเพราะว่าบางคนว่างบางคนไม่ว่าง กิจกรรมล่าสุดคือ 20 – 30 คน ก็จะหมุนเวียนกันมา แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเราขอแรงได้ประมาณ 200 – 300 คน ข้อมูลเราต้องอัพเดทตลอดเวลา เพราะมีที่อยู่เปลี่ยน เบอร์โทรเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ท้าทาย อีกอันหนึ่งที่เรามีประสบการณ์ที่สงขลา ปกติ office เราอยู่ที่กรุงเทพฯ และเรารู้สึกว่ามันรวมศูนย์อยู่ที่เดียว เราจะมีการตั้งข้อสังเกตว่า งานในกรุงเทพฯ คนที่มีใน database อาสาสมัครไม่ค่อย active เท่าไหร่ ถ้าเทียบกับต่างจังหวัด สมมติถ้าเราไปหาดใหญ่ สงขลา ไปต่างจังหวัด เราจะได้คนเยอะกว่า ไปเชียงใหม่ ขอนแก่น ไปตามที่ต่างๆ เราจะได้คนเยอะกว่ากรุงเทพฯ อาจจะเป็นเพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ เงื่อนไขเรื่องเวลา เงื่อนไขชีวิตเยอะ บางทีแม้กระทั่งเรามีกิจกรรมที่กรุงเทพเอง เราเรียกต่างจังหวัด นั่งรถทัวร์มาจากเชียงใหม่ ลำปาง นับถือจริงๆ เป็นเรื่องที่อาจจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนในกรุงเทพฯ เข้ามาร่วมมากขึ้น เป็นเรื่องยากแต่ท้าทายจริงๆ
ผมคิดว่าสิ่งที่จิตอาสาทำเกี่ยวกับแผนที่ความดีที่มีเป็น map ให้ว่าถ้าสนใจเรื่องนี้จะไปที่ไหน ก็เป็นเรื่องที่ดี มีความก้าวหน้าเยอะ บางทีผมก็ไม่รู้นะว่ามีคนทำอย่างนี้ที่นี่ด้วย เป็นเรื่องใหม่ที่เราได้รับรู้จากการที่งานอาสาเป็นระบบขึ้น สุดท้ายผมเห็นว่าเครื่องมือออนไลน์ อินเตอร์เน็ต พวกบล็อก ไฮไฟว์ หรือพวกเครื่องมืออื่นๆ ที่มันกระจาย อาจจะมีบทบาทความสำคัญมาก เพราะตอนนี้ชีวิตคนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แทนที่จะเป็นเว็บไซต์เฉพาะ เราพยายามที่จะทำเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงได้ อย่างกรณีบางอันในต่างประเทศ บางทีเป็นเรื่องของการใช้คำด้วย คำภาษาอังกฤษเป็นคำสั้น อ่านก็เข้าใจเลย แต่คำภาษาไทยค่อนข้างยากนิดหนึ่ง แต่ถ้าเรามี copywriter คนหนึ่งที่คิดคำเด็ดๆ ได้ อาจจะช่วยเราได้เยอะ เช่น ยกตัวอย่างเป็น role model ของอาสาสมัครเป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่งที่หวือหวา ตื่นเต้น หรือทำให้คนรู้สึกอยากจะมาช่วย บนเวปไซต์ของกรีนพีซที่ออสเตรเลียเขาจะมีเรื่องนี้

Credit รูป : Greenpeace