ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur)
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552
ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็หนีไม่พ้นที่คนทำงานจะถูกเลิกจ้าง และทางออกทางหนึ่งของคนเหล่านี้ คือ การเริ่มต้นธุรกิจหรือทำการค้าด้วยตนเอง ซึ่งเชื่อว่าในช่วงต่อไปนี้ ก็คงจะมีสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง เร่งพัฒนาหรืออบรมผู้ประกอบการใหม่ขึ้นมา
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมอยากจะเสนอในวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการพัฒนาผู้ประกอบการ ที่มุ่งทำธุรกิจเพื่อผลกำไรและการอยู่รอดของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ประกอบการยุคใหม่ควรจะเป็นผู้ประกอบการที่นอกเหนือจากจะอยู่รอดในเชิง ธุรกิจแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับสังคมได้อีกด้วย แทนที่เราจะเน้นพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ที่มุ่งเน้นแต่แสวงหารายได้และกำไร เราจะสามารถพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ที่มองเห็นปัญหาทางสังคมและสร้างสรรค์ธุรกิจที่แก้ไขต่อปัญหาสังคมดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จในด้านการเงินได้หรือไม่ ถ้าประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์ผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือ Social Entrepreneur ได้เยอะๆ แล้ว นอกเหนือจากเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น ปัญหาทางด้านสังคมต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไข และสังคม ไทยก็จะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก็ได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวข้างต้นครับ แต่เนื่องจากหลักการและแนวคิดในเรื่องของผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังเป็นสิ่ง ที่ใหม่ทั้งในแวดวงวิชาการ และใหม่ในประเทศไทย ทางคณะจึงได้เชิญศาสตราจารย์ Jill Kickul จาก Stern School of Business มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หรือ NYU ซึ่งเป็นอาจารย์ชื่อดังระดับโลกและเป็นผู้บุกเบิกเรื่องของ Social Entrepreneurship มาที่จุฬาฯ โดยอาจารย์ท่านนี้ได้มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของผู้ประกอบการเพื่อสังคม อีกทั้งยังริเริ่มโครงการวิจัยร่วมกับอาจารย์ของคณะ ซึ่งก็ทำให้พบว่าในประเทศไทย ชื่อของ Social Entrepreneur อาจจะเป็นเรื่องที่ใหม่ แต่ผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นในประเทศไทยมีตัวอย่างอยู่บ้างพอสมควรครับ
กรณีของร้านภูฟ้า ที่มีเป้าหมายในการดำเนินงาน ว่า มุ่งเน้นการสร้างวงจรการตลาด ที่มีประสิทธิภาพระหว่างชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดารกับผู้บริโภค พร้อมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และพัฒนาอาชีพให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงการพัฒนาคนและชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือ เว็บ eBannok.com ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพ (ร้านอีบ้านนอก) ที่สนับสนุนให้คนไทย (ชาวเขา) ได้ใช้ฝีมือในการผลิตสินค้าหัตถกรรม โดยแก้ไขปัญหาการเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ของชาวชนบท โดยอาศัยฝีมือทางด้านหัตถกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผลิตสินค้าพื้นเมืองขายจนปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือ Social Entrepreneur นั้น ก็เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างหนึ่งที่ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ชอบทำ หรือที่คุ้นกันในชื่อของ CSR หรือ Corporate Social Responsibility แต่เมื่อได้ฟังจากผู้รู้จริงๆ แล้วพบว่าการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นใหญ่กว่าเพียงแค่การ ทำ CSR เฉยๆ ครับ เนื่องจากองค์กรส่วนมากทำกิจกรรมเพื่อสังคมนั้น ก็เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของตนเองดีขึ้น เพื่อนำกำไรและรายได้ที่ได้รับตอบแทนกลับคืนให้กับสังคม ซึ่งถ้าถามว่าเป้าหมายสุดท้ายขององค์กรต่างๆ คืออะไร ทั้งหมดก็คงตอบว่าเพื่อผลกำไรหรือผลประกอบการที่ดีนั้นเอง แต่ตัวผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นถ้าถามว่าเป้าหมายสุดท้ายคืออะไร เราจะพบว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่แท้จริงจะมีเป้าหมายหลักอยู่สองประการ ด้วยกันครับ หรือที่เรียกว่า Double Bottom-Line โดยเป้าหมายแรก ก็คือ เพื่อให้เกิดกำไร หรือผลประกอบการที่ดีเหมือนธุรกิจทั่วๆ ไป แต่อีกเป้าหมายหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสังคมหรือทำให้สังคมดีขึ้น
ผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นจะอยู่ระหว่างกลางระหว่างองค์กรสาธารณกุศลที่ มุ่งเน้นเพื่อสังคมอย่างเดียว กับองค์กรธุรกิจที่เป้าหมายหลักอยู่ที่การทำกำไร โดยผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น จะมุ่งเน้นทั้งในด้านของกำไรและสังคมไปควบคู่กัน ตัวอย่างอีกหนึ่งผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่ว โลก ก็คือ Muhummad Yunus ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเรื่องของ Micro-Finance ที่บังกลาเทศ ที่ปล่อยเงินกู้จำนวนไม่มากเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถกู้เงินจาก ธนาคารปกติได้มีเงินทุนแรกเริ่มในการทำธุรกิจ Yunus ได้เข้าไปช่วยสร้างฐานะให้กับชาวบังกลาเทศเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ธุรกิจให้กู้เงินของเขาขยายตัว และเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง และตัว Yunus เองก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2006